ชวนกันมารื้อฟื้นความทรงจำอีกครั้งกับประโยคเด็ดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กุมบังเหียนใหญ่ฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เคยประกาศไว้ในงานสัมมนา "Thailand 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย" เมื่อช่วงปลายปี 60 ที่บอกว่า "ภายในปี 61 คนไทยจะหายจน" เวลานี้ก็ล่วงเข้าสู่เดือนที่ 6 แล้ว คนไทยมีแววจะหายจนได้จริงหรือไม่
ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/61 ขยายตัวสูงถึง 4.8% นับเป็นการขยายตัวสูงสุดใน 20 ไตรมาส หรือในรอบ 5 ปี พร้อมกันนั้นยังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.5% จากเดิม 4.1% จากปัจจัยบวกที่ว่าเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นช่วยสนับสนุนการส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมให้ขยายตัวในเกณฑ์ดี, แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง, การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวชัดเจนขึ้นตามความคืบหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และฐานรายได้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น
ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น 4.5% จากเดิม 4.2% โดยให้เหตุผลสนับสนุนที่สอดคล้องกับสภาพัฒน์ นั่นคือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดี ภาคเอกชนเริ่มขับเคลื่อนการลงทุน ในขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเริ่มมีความคืบหน้า พร้อมมองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/61 มีโอกาสขยายตัวได้มากกว่า 4% หลังจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยหลายตัวมีประสิทธิภาพ ประกอบกับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไทยปีนี้ค่อนข้างฉายแววสดใส แต่ความสดใสดังกล่าวจะกระจายลงไปสู่ระดับฐานรากให้ลืมตาอ้าปากได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่เป็นสภาวะ"รวยกระจุก จนกระจาย"อย่างที่หลายฝ่ายพูดกัน
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีขึ้น แม้การกระจายรายได้จะปรับตัวดีบ้างก็ตาม
ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นนั้นเป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการต่างๆ ของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะนโยบายเอื้อคนจน (Pro-poor policy) ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทั้งมาตรการรับจำนำข้าว มาตรการประกันราคา การเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ บทบาทของกองทุนหมู่บ้าน นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สวัสดิการทางด้านการศึกษา หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นของผู้ประกันจากกองทุนประกันสังคม เงินอุดหนุนแม่และเด็ก เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทย ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าของทุนกับแรงงานรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรายย่อยปราศจากที่ดินทำกิน มหาเศรษฐี 100 อันดับแรกของไทยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยของประเทศทรัพย์สินและความมั่งคั่งไม่ได้เพิ่มขึ้น และหนี้สินต่อครัวเรือนลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประเทศไทยจึงติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดีย และรัสเซีย
"การกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนยังคงกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ การเติบโตของเศรษฐกิจในระดับ 4.8% ในไตรมาสแรกไม่ได้หมายความว่า ทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.8% คนส่วนใหญ่อาจจนลงก็ได้หากรายได้ที่เพิ่มขึ้น 4.8% นั้นกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และจากข้อเท็จจริงก็ชี้ชัดว่ากลุ่มคนเพียง 6 ตระกูล ถือครองความมั่งคั่งเท่ากับคนเกือบ 50 ล้านคน และครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งระบบ" นายอนุสรณ์ระบุ
พร้อมเชื่อว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ จึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อของสังคมไทยต่อไป
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ค.61 ยังยอมรับว่าแม้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะขยายตัวต่อเนื่องชัดเจนขึ้น และอุปสงค์ในประเทศเริ่มปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึง โดยกำลังซื้อที่ดีขึ้นนี้ยังไม่กระจายไปอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน รายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังคงเปราะบาง และต้องพึ่งพามาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชน
โดยข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าในไตรมาส 4/60 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 77.5% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 3/60 ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 77.3% ต่อ GDP
ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ผลสำรวจสถานภาพเศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงครึ่งปีหลังว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังกระจุกอยู่ในบางพื้นที่ ไม่ได้กระจายตัวไปอย่างเท่าเทียม เพราะในบางพื้นที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่ำกว่า 4.8% เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน และบางส่วนยังมีปัญหาในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อ และการจับจ่ายของภาคประชาชน ซึ่งมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวและขยายตัวได้ดี แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะหากไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศได้ตามกำหนด จะส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในด้านการบริโภค รวมถึงการลงทุน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อความไม่เชื่อมั่นในการใช้จ่ายของประชาชนในระดับภูมิภาค รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่แม้จะมีเม็ดเงินจำนวนมาก แต่การขับเคลื่อนลงไปสู่ภาคประชาชนยังไม่เห็นผลอย่างแท้จริง ทำให้การจ้างงานในภูมิภาคยังเกิดขึ้นได้ไม่รวดเร็วพอ
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.61 ปรับตัวลดลงหลังจากที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันใน 2 เดือนก่อนหน้า (มี.ค.-เม.ย.) โดยหนึ่งในปัจจัยลบที่ผู้บริโภคแสดงความกังวล คือ เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว นอกจากนี้ยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ ที่พบว่าดัชนีค่าครองชีพในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 47 เดือน ดังนั้นเมื่อรวมกับปัจจัยลบเดิมในเรื่องราคาพืชผลเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีก่อน จึงทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังไม่โตหรือยังไม่กลับมาเต็มที่
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ สิ้นปี 60 พบว่า ภาวะการเป็นหนี้ของครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจาก 49.1% ในปี 2558 มาเป็น 50.7% ในปี 60 และจากจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ 21 ล้านครัวเรือนนั้น มีจำนวนครัวเรือนที่มีหนี้สิน 10.8 ล้านครัวเรือน หรือ 50.7% จำนวนหนี้สินเฉลี่ย 178,994 บาท/ครัวเรือน คิดเป็น 6.6 เท่าของรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ถึง 76.9% เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ที่เหลืออีก 23.1% เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่นๆ ในขณะที่ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยที่ 26,946 บาท/เดือน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 21,437 บาท/เดือน
เมื่อประมวลข้อมูลจากหลายหน่วยงานแล้ว ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าปี 2561 คนไทยจะหายจนได้จริงตามที่รองนายกฯ สมคิดได้ประกาศไว้ เพราะการจะทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักความยากจนดูยังเป็นหนทางอีกยาวไกล ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาประกาศกดสวิทช์ปิดความจนกันได้ง่ายๆ นัก