นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน มิ.ย.61 ซึ่งประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดล่าสุดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นสำคัญ
โดยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 92.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออก อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากโครงการกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวทางประชารัฐและกองทุนเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ประกอบกับภาคการลงทุนภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มสดใส หลังจากรัฐบาลเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางถนนเชื่อมภาคกลางตอนบนกับภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในพื้นที่มีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพบว่า ภาคเอกชนมีแผนเตรียมการลงทุนก่อสร้างห้างสรรพสินค้าชื่อดังในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์ดีที่ระดับ 87.3 โดยเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุนภายในภูมิภาค หลังจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้าในหลายด้าน เช่น การประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติ EEC อย่างเป็นทางการ การเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น นอกจากนี้พบว่า การลงทุนของภาคเอกชนภายในเขตพื้นที่ EEC มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดสินค้าประเภทเครื่องจักร และมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมในหลายจังหวัดนอกเขตพื้นที่ EEC เช่น จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี เป็นต้น
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดีที่ระดับ 84.3 เนื่องจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ตามทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องของการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มกำลังการผลิต อีกทั้ง มีจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์ บึงกาฬ และสุรินทร์ นอกจากนี้ ดัชนีแนวโน้มของภาคบริการปรับตัวในระดับที่ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง รวมทั้งในช่วงครึ่งหลังปี 2561 พบว่า หลายจังหวัดเตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราชที่จังหวัดนครพนม การจัดโครงการ 36 กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดมุกดาหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปีของจังหวัด เป็นต้น
ขณะที่ภาคบริการของภาคเหนือมีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว หลังจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งครอบคลุมถึง 16 จังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบกับมีการประกาศเพิ่มเที่ยวบินในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ อย่างเช่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกทั้งในช่วงปลายปีถือเป็นฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวของภาคเหนือ ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวเข้าสู่ภูมิภาคจำนวนมาก
นอกจากนี้ ดัชนีแนวโน้มภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะเอื้อต่อการเพาะปลูกเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เป็นต้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกมาสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มที่ดีขึ้นของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเหนือ ปรับตัวมาอยู่ที่ 83.9 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก ปรับตัวอยู่ที่ 79.2 เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคบริการ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยว หลังจากหลายจังหวัดในภูมิภาค อย่างเช่นจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และสุพรรณบุรี มีการดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคบริการ ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 93.1 ประกอบกับแนวโน้มที่ดีของภาคการลงทุนภายในภูมิภาค เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแผนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการจัดการพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะส่งผลดีต่อมุมมองของนักลงทุน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ ปรับตัวในเกณฑ์ดีที่ 74.4 จากดัชนีแนวโน้มในภาคบริการ ส่งสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง อยู่ที่ 89.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เนื่องจากหลายจังหวัดเมืองรองภาคใต้ อย่างเช่น จังหวัดระนอง พัทลุง ตรัง เป็นต้น มีการดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้รับอานิสงส์จากมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง ประกอบกับภาคการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 67.6 ซึ่งปรับตัวในเกณฑ์ที่ดี ตามดัชนีแนวโน้มในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 70.4 อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรม