สศค.คาดศก.ไทย Q2/61 โตเกิน 4% หลังตัวชี้วัดเดือน พ.ค.ส่งสัญญาณดีกว่าปกติ ทั้งปียังคงเป้า 4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 28, 2018 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ แม้จะขยายตัวได้ไม่ดีเท่าไตรมาส 1 ที่เติบโตได้ถึง 4.8% ก็ตาม แต่เชื่อว่าจะสามารถเติบโตได้สูงกว่า 4% เนื่องจากมีเครื่องชี้วัดหลายตัวในเดือน พ.ค.ที่ส่งสัญญาณดีกว่าปกติ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่การเติบโตเริ่มกระจายตัวไปในทุกภูมิภาค

สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.61 มีการขยายตัวในแบบที่กระจายตัวไปยังทุกภูมิภาค โดยเฉพาะรายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรที่ขยายตัวได้ถึง 9% สูงสุดในรอบ 13 เดือน จากที่ก่อนหน้านี้ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้คาดว่าการบริโภคระดับฐานรากจะปรับตัวดีขึ้นได้ในอนาคต โดยในส่วนของสินค้าเกษตรประเภทข้าวเปลือก และมันสำปะหลัง มีราคาดีเนื่องจากยังมี demand สูง เกษตรกรจึงได้รับประโยชน์จากราคาที่เพิ่มขึ้น

"ในช่วงที่ผ่านมา มีการระบายข้าวค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา ปริมาณสต็อกจึงลดลง ทำให้ราคาข้าวทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งสินค้าข้าวถือว่ามีสัดส่วนที่ใหญ่ในภาคเกษตร ขณะที่ปาล์มน้ำมันได้รับผลดีจากราคาน้ำมันปาล์มที่สูงขึ้น หลังจากกระทรวงพลังงานสนับสนุนให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่มีสัดส่วนของน้ำมันปาล์มเยอะขึ้นจากเดิม B7 เป็น B20 ก็เป็นตัวสะท้อนให้ราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้น และทำให้รายได้เกษตรกรสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในเดือน พ.ค.นี้"นายศรพล กล่าว

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ สศค.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ไว้ที่ระดับ 4.5% ซึ่งยังเป็นการประเมินแบบไม่เป็นทางการ และคาดว่าในเดือน ก.ค.นี้ จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

"ในเดือนพ.ค.มีตัวชี้วัดที่ส่งสัญญาณดีกว่าปกติ ซึ่ง GDP ในไตรมาส 2 ไม่ว่าจะเป็นระดับ 4% เท่าไรก็ตาม ถือว่าค่อนข้างสูงแล้ว แต่ทั้งนี้ อยากให้เน้นว่าการเติบโตเริ่มกระจายตัวลงไปยังภาคเกษตร และระดับภูมิภาคมากขึ้น" นายศรพล กล่าว

นายศรพล ยังกล่าวถึงสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนว่า จากข้อมูลในเดือนพ.ค.นี้ ยังไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการส่งออก และการท่องเที่ยวของไทย พร้อมมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องทางการเมืองของสหรัฐฯ เชื่อว่าเมื่อผ่านการเลือกตั้งช่วงกลางเทอมในช่วงเดือน พ.ย.ไปแล้วความกดดันในประเด็นนี้จะเริ่มคลี่คลายลง จึงมองว่าประเด็นสงครามการค้าจะไม่ยืดเยื้อนาน และไม่ลุกลามไปยังภาคอื่นๆ เช่น ภาคการเงิน

"มองว่าไม่น่าจะยืดเยื้อ เพราะเหตุมันเป็นเรื่องการเมืองสหรัฐฯ เชื่อว่าถ้าผ่าน Midterm Election ไปแล้วน่าจะลดแรงกดดันลงได้" นายศรพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ