นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมเสนอคณะกรรมการเร็วๆนี้เพื่อพิจารณาเปิดประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) แล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุว่าจะดำเนินการได้ในปีนี้หรือไม่ เนื่องจากยังต้องรอนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กฟผ.จะดำเนินโครงการนำร่องร่วมกับ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจีเพื่อพัฒนาระบบทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยง ใช้เป็นต้นแบบของการผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับไฟฟ้าจากเขื่อน มีกำลังผลิต 200-250 กิโลวัตต์ (kW) ติดตั้งในพื้นที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นการพัฒนาโซลาร์ลอยน้ำในระยะแรกก่อน และดำเนินโครงการ 45 เมกะวัตต์เป็นระยะที่สอง
ส่วนระยะที่สามที่กำหนดศักยภาพพื้นที่ติดตั้งใน 11 เขื่อนทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพการผลิตรวมกว่า 1,000 เมกะวัตต์นั้น ต้องรอความชัดเจนจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ออกมาก่อน
กฟผ.เตรียมเสนอบอร์ดเร็วๆนี้ประมูลทำโซลาร์ลอยน้ำ 45 MW หากผ่านเสนอกพช.-ครม.ต่อไป
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างปรับปรุงองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology) ที่ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าจากระบบลดลง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของกฟผ.
ทั้งนี้ กฟผ.ก็ได้สื่อสารเรื่องดังกล่าวให้กับพนักงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าที่จะมีพนักงาน กฟผ.ทยอยเกษียณอายุประมาณ 1,200-1,400 คน/ปี ก็จะทำให้มีเวลาในการปรับองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและให้เป็นองค์กรที่กระชับและสามารถแข่งขันได้ โดยคาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้ากฟผ.จะเหลือพนักงานราว 16,000 คน จากระดับ 21,000-22,000 คนในปัจจุบัน ส่วนจะมีการรับพนักงานใหม่เพิ่มหรือไม่นั้น คงต้องรอการปรับองค์กรให้นิ่งแล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะต้องเพิ่มในส่วนใดอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น กฟผ.ก็ได้ติดตามเพื่อที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมได้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อระบบความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างไร เพื่อจะพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อให้การเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น การพัฒนาโครงการระบบส่งไฟฟ้า รองรับพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP ให้แล้วเสร็จตามกำหนด พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ ให้เข้มแข็ง พัฒนาระบบสมาร์ทกริดให้การผลิตและจ่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพ พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
รวมถึงจะนำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตและส่งไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานมาใช้ รวมถึงต่อยอดนวัตกรรมเดิมที่ประสบความสำเร็จแล้วมาสร้างเป็นธุรกิจใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วยให้องค์กรมีการเติบโต
นายวิบูลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.มีประมาณ 36% จากกำลังการผลิตรวมของประเทศ แต่ กฟผ.ไม่สามารถประเมินได้ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมของ กฟผ.ควรอยู่ในระดับใด เพราะต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการจัดทำแผน PDP ซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลต้องการให้มีโรงไฟฟ้ามั่นคง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดของโรงไฟฟ้ามั่นคงดังกล่าว
ขณะเดียวกัน กฟผ.ก็มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำนวัตกรรมมาต่อยอดพัฒนาองค์กร และเป็นการหาพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรด้วย โดยที่ผ่านมามีความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ และจัดทำแผนที่นำทางแพลตฟอร์มดิจิทัลการไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ NETP ส่งเสริมการบูรณาการ การจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกันของรัฐวิสาหกิจเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐ พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต
ตลอดจนร่วมมือกับ บมจ.ปตท.(PTT) ในการหาโอาสความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจระหว่างกัน เบื้องต้นมองทั้งในส่วนของเชื้อเพลิง , นวัตกรรม , การลงทุนต่างประเทศ ,ธุรกิจที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งคาดว่า น่าจะมีความชัดเจนในกลางเดือนก.ค.นี้
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จำนวน 1.5 ล้านตัน/ปี ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลแล้วนั้น ปัจจุบันยังไม่สามารถเปิดประมูลเพื่อนำเข้า LNG ได้ เนื่องจากยังต้องรอความชัดเจนเรื่องค่าไฟฟ้ากับคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อน เพราะการนำเข้า LNG นั้นจะสัมพันธ์กับต้นทุนเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มขึ้น โดยเมื่อได้ข้อสรุปเรื่องค่าไฟฟ้าแล้ว ก็จะสามารถเปิดประมูลเพื่อนำเข้า LNG ได้ต่อไป
ขณะที่การดำเนินโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification: FSRU) บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตัน/ปีของกฟผ.นั้นยังคงดำเนินการได้ตามแผน