นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพ การลดต้นทุนการผลิต และการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง จำนวนทั้งสิ้น 7,927 ชุมชน และมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 77 ศูนย์ รวมถึงได้มีการต่อยอดชุมชนที่มีศักยภาพ และความโดดเด่น ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีและวัฒนธรรมไปสู่รูปแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพเกิดการกระจายรายได้ ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานและกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดความรักความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนการดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
โดยในปี 2561 ธ.ก.ส.มีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การเป็นชุมชนอุดมสุขใน 4 มิติ คือด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านประเพณีวัฒนธรรม จำนวน 800 ชุมชน พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำนวน 35 ชุมชน
ทั้งนี้ ในการดำเนินงาน ชุมชนจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคน ในชุมชนทั้งด้านทรัพยากร การพัฒนาอาชีพ การรวมกลุ่ม และการเชื่อมโยงธุรกิจไปยังชุมชนใกล้เคียง โดย ธ.ก.ส.จะคอยเติมเต็มในส่วนที่ขาด เช่น การสนับสนุนเงินทุน การให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของชุมชน การสนับสนุนการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมและการเชื่อมโยงกับส่วนงานภายนอก ในการนำองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนา เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนวิชาการด้านพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เข้าสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ของชุมชน เช่น การสร้างระบบการจองที่พัก แพ็กเกจท่องเที่ยว เป็นต้น
สำหรับชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย เป็นหนึ่งใน 35 ชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยว ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทั้งป่าชายเลน ป่าต้นน้ำ มีสัตว์ป่าและนกนานาชนิด โดยเฉพาะนกเงือกที่มีความสวยงามและหาดูได้ยาก โดย ธ.ก.ส ได้ร่วมสนับสนุนโครงการอนุรักษ์นกเงือกเกาะยาว เพื่อดูแลป้องกัน ไม่ให้นกเงือกสูญหายไปจากเกาะ สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนธนาคารปูม้า เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้กับท้องทะเลชายฝั่งอันดามันบริเวณเกาะยาวน้อย โดยนำไปปรับปรุงกระชังการเพาะเลี้ยง และมอบให้คณะกรรมการชุมชนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการรับซื้อปูม้าไข่นอกกระดอง ในส่วนของการประกอบอาชีพ ชุมชนเกาะยาวน้อย มีวิถีชีวิตเป็นชาวประมง จึงมีการสร้างงานจากการแปรรูปอาหารทะเล การเลี้ยงปลาและกุ้งมังกรในกระชัง เมื่อมีการพัฒนาไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวได้มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อผลิตสินค้าและบริการรองรับนักท่องเที่ยว เช่น การทำผ้าบาติก ที่พักแบบโฮมสเตย์ การนำเรือประมงมาปรับเป็นเรือบริการนำเที่ยวตามหมู่เกาะต่างๆ บริการรถรับส่งสาธารณะภายในเกาะ เป็นต้น
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเกาะยาวไปแล้ว จำนวน 2.39 ล้านบาท