บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) จัดงานอบรมสัมมนา CPF Capacity Building for Partnership 2018 เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้และพัฒนาร่วมกับคู่ค้าธุรกิจ ในการสร้างคุณค่าในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานในสถานประกอบการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และกรรมการบริหารความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ซีพีเอฟ กล่าวว่า การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและยั่งยืนให้แก่คู่ค้าธุรกิจให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ผ่านนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้ ทักษะการผลิตและประสบการณ์ พัฒนาระบบและดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับ ร่วมออกแบบ ร่วมพัฒนา ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ร่วมกับคู่ค้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้กำหนดนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมแนวทางการดำเนินธุรกิจใน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ด้านบุคลากร ด้านกระบวนการ และด้านการดำเนินงาน ทั้งยังเริ่มการตรวจประเมินคู่ค้าธุรกิจหลักด้านความยั่งยืน (Supplier Sustainability Audit) ในปี 2560 โดยตั้งเป้าตรวจประเมินคู่ค้าหลักให้ครบ 100% ภายในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้ว 27%
"นโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้า ของซีพีเอฟ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนเป้าหมาย การพัฒนาคู่ค้าให้เติบโตไปด้วยกัน บริษัทฯจะเติบโตได้อย่างมั่นคงจำเป็นต้องมีพันธมิตรที่ดีและสนับสนุนซึ่งกันและกัน และก้าวเดินไปพร้อมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามกระแสของโลก ที่สำคัญต้องดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม" นายวุฒิชัย กล่าว
สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ มุ่งเน้นให้คู่ค้าธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจให้สอดรับกับความต้องการตลาดโลก โดยมีวิทยากรจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) กระทรวงแรงงาน เป็นผู้ให้ความรู้ในปฏิบัติต่อแรงงานตามกฏหมาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ขณะเดียวกันยังเป็นการยกระดับการคุ้มครองแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้วย
นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการคุ้มครองแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากล ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและกฏเกณฑ์การค้าโลกใหม่ๆจากประเทศคู่ค้า เช่น การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก (Trafficking in Person หรือ Trip Report) ตลอดจนการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุมที่ดี (Illegal Unreported Unregulated Fishing หรือ IUU) เพื่อคุ้มครองแรงงานให้ได้รับความเสมอภาค เป็นธรรม และปลอดภัยจากการทำงาน โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนมุ่งยกระดับการบริหารด้านแรงงานด้วยความรับผิดชอบ ตามมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.) แนวทางการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงาน (Good Labor Practices หรือ GLP) และแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานทุกคนอย่างทัดเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาระบบตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
นายชัยธนา ชัยมงคล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. กล่าวว่า สถาบันฯ มุ่งส่งเสริมภาคการผลิตให้ความสำคัญกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย โดยเฉพาะการลดอุบัติเหตุของผู้ปฏิบัติงานและแรงงาน ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ และคู่ค้าธุรกิจ ในการสร้างมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต การร่วมมือกันทั้งผู้ผลิตและคู่ค้าธุรกิจจะทำให้การดำเนินธุรกิจมีความมั่นคงและยั่งยืน