นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พ.ค.61 มีจำนวน 6,497,688.57 ล้านบาท คิดเป็น 40.78% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 5,202,092.04 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจ 907,969.04 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 378,871.31 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 8,756.18 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 10,977.09 ล้านบาท
สำหรับหนี้รัฐบาลจำนวน 5,202,092.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 19,195.84 ล้านบาท ได้แก่ 1.เงินกู้ภายใต้แผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 และการบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นสุทธิ 22,836.99 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ จำนวน 26,836.99 ล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตรออมทรัพย์ 4,000 ล้านบาท
2.เงินกู้เพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 3,254.92 ล้านบาท แบ่งเป็น การกู้ให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟท.) เบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,423.81 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 507.86 ล้านบาท สายสีน้ำเงินจำนวน 470.96 ล้านบาท และสายสีส้มจำนวน 444.99 ล้านบาท
นอกจากนั้ รฟท.ยังเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,805.97 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น จำนวน 713.17 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ จำนวน 333.90 ล้านบาท โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย จำนวน 324.29 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย จำนวน 279.31 ล้านบาท โครงการการก่อสร้างทางคู่ ช่วงนครปฐม-ชุมพร จำนวน 114.28 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 41.02 ล้านบาท
และ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 25.14 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการอาคารพักอาศัยแปลง G ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง
3.การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น 840 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน
4.การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 8,786 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
5.หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,049.93 ล้านบาท จากการเบิกจ่ายเงินกู้สกุลเงินเยนและ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 907,969.04 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 6,677.73 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก 1.หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 482.43 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 2.หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันลดลงสุทธิ 7,160.16 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่ลดลงของ บมจ.การบินไทย (THAI)
ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 378,871.31 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,032.07 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่ลดลงของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 8,756.18 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 508.95 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่ลดลงของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค.61 จำนวน 6,497,688.57 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ในประเทศ 6,226,924.20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 95.83% และหนี้ต่างประเทศ 270,764.37 ล้านบาท (ประมาณ 8,326.22 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน 4.17% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,884,683.38 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.57% และหนี้ระยะสั้น 613,005.19 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.43% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด