นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 61 เป็น 4.3-4.8% จากเดิม 4.0-4.5% และปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นเป็น 0.9-1.5% จากเดิม 0.7-1.2% เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ จากมุมมองที่บวกขึ้นของการส่งออก การท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจไทยที่เริ่มได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการเติบโตของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวเป็นบวกซึ่งน่าจะช่วยหนุนกำลังซื้อฐานรากให้ดีขึ้น และเครื่องชี้การลงทุนที่ทยอยฟื้นตัว ทำให้โดยรวมแล้ว
"ปัญหาการกระจายรายได้ลงสู่ฐานรากนั้นน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ดูได้จากรายได้สินค้าเกษตร ยกเว้นยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นจากยอดจำหน่ายรถกระบะที่เพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนภาครัฐในปีนี้นั้นเชื่อว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังมีการปรับตัวตามกฎกติกาที่ออกมาใหม่" นายปรีดี กล่าว
พร้อมกันนั้น กกร.ยังปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 61 เป็น 7.0-10.0% จากเดิม 5.0-8.0% เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความต่อเนื่อง จะยังคงเป็นแรงหนุนการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม กกร. ประเมินว่า ผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และนานาประเทศ จะส่งผลกระทบที่จำกัดต่อการส่งออกของไทยในปีนี้
"ผลกระทบจากสงครามการค้านั้นมีทั้งผลดีและผลเสียต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แต่เมื่อเฉลี่ยในภาพรวมแล้วจะเป็นผลดีมากกว่า แต่ในระยะยาวปีต่อไปคงต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย" นายปรีดี กล่าว
สำหรับประเด็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการอ่อนค่าของเงินบาทที่เกิดขึ้นหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC)ในเดือนมิถุนายนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น กกร.มองว่า ตลาดการเงินได้รับรู้แนวโน้มดอกเบี้ยดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น คาดว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนน่าที่จะทุเลาลง และเงินบาทน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย
"ปัญหาค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนเนื่องจากเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยยังมีเสถียรภาพ ทำให้สามารถควบคุมดูแลสถานการณ์ดังกล่าว และไม่ได้เกิดวิกฤตเหมือนเมื่อปี 2540"
ส่วนกรณีของผลกระทบจากการใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS9 นั้น ทาง กกร. ได้ว่าจ้าง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการศึกษาวิจัยประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งนำเสนอมาตรการเยียวยา โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาวิจัยประมาณ 4-6 เดือน และจะนำเสนอผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) และหน่วยงานที่ดูแลเศรษฐกิจของประเทศเพื่อใช้ในการพิจารณาวันประกาศบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวต่อไป