นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในฐานะที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 กำหนดให้ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้มี จำนวน 6 ประเภท ได้แก่ (1) กิจการ (2) สิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า บัญชีเงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า เป็นต้น (3) สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบ เป็นต้น (4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น (5) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ เป็นต้น (6) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้ทรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจมีครบตาม (1) - (5) แล้ว
กรมฯ จึงเร่งออกกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มทรัพย์สินอื่นมาเป็นหลักประกัน คือ "ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ" ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย อีกทั้งประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ระหว่างการปลูก โดยนำไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้
นางกุลณี กล่าวว่า เบื้องต้นกรมฯ ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน SME Bank โดยทุกหน่วยงานสนับสนุนให้กระทรวงพาณิชย์เร่งออกกฎกระทรวงกำหนดให้ "ต้นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ" เป็นหลักประกันทางธุรกิจ
"ขณะนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะเป็นไปตามแผนที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 1 ปี (ภายใน ก.ย.61)" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุ
โดยล่าสุด ภาคเอกชนได้มีการนำสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ประเภทสัตว์พาหนะ (ช้าง) และกิจการ มาจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าทรัพย์สิน (ช้าง) ที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 13 ล้านบาท และกิจการ 514 กิจการ ประกอบด้วย ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ร้านซักอบรีด สวนผัก ผลไม้ สวนยางพารา หอพัก และรับเหมาก่อสร้าง จำนวน 97 ล้านบาท รวมมูลค่า (ช้างและกิจการ) กว่า 110 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของประเภททรัพย์สินที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ และเป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินในการให้กู้ยืมเงิน สามารถสะท้อนได้ว่า พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน (4 กรกฎาคม 2559 - 3 กรกฎาคม 2561) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 210,730 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 4,849,127 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็น 51.88% (มูลค่า 2,515,487 ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็น 25.92% (มูลค่า 1,256,912 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็น 22.16% (มูลค่า 1,074,656 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็น 0.04% (มูลค่า 1,975 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็น 0.002% (มูลค่า 97 ล้านบาท) และอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็น 0.00001% (มูลค่า 340,000 บาท)