นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงเทพฯ เน้นการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันที่หลายประเทศเริ่มมีการนำมาตรการกีดกันและตอบโต้ทางการค้ามาใช้ระหว่างกันมากขึ้น จนเกิดความตึงเครียดและเสี่ยงต่อการเกิดสงครามการค้า ที่ไทยและสหภาพยุโรปในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) จะต้องร่วมมือกันผลักดันการปฏิรูปการทำงานของ WTO เพื่อให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคี และให้สมาชิก WTO หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการทางการค้าฝ่ายเดียวแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการค้า
โดยเฉพาะขณะนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าของ WTO ที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องผลักดันให้ WTO แต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ที่ว่างอยู่ 3 ตำแหน่งให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้องค์กรอุทธรณ์มีสมาชิกครบทั้ง 7 ตำแหน่ง ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กลไกระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO เกิดการชะงักงัน โดยเฉพาะระบบระงับข้อพิพาท WTO ถือเป็นที่พึ่งของประเทศกำลังพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา ในการผลักดันให้ประเทศที่แพ้คดีต้องปรับแก้ไขมาตรการและดำเนินการตามผลคำตัดสินของคณะผู้พิจารณาและองค์กรอุทธรณ์ของ WTO
นางอรมน กล่าวว่า ฝ่ายไทยยังได้ใช้โอกาสนี้หารือกับสหภาพยุโรปเรื่องการผลักดันการเจรจา WTO รอบโดฮาให้คืบหน้า โดยเฉพาะข้อสั่งการจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่จัดขึ้นที่อาร์เจนตินาในปี 2560 เรื่องการจัดทำกฎระเบียบ WTO เรื่องการอุดหนุนประมง บทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการขนาดย่อยเล็กกลางในการค้าโลก และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับสหภาพยุโรปเรื่องพัฒนาการด้านกฎระเบียบการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่ายในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแผนการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากพืชรวมทั้งน้ำมันปาล์ม ในปี 2573 ของสหภาพยุโรป โดยเหตุผลเรื่องการทำลายป่าไม้และเพิ่มก๊าซเรือนกระจก การออกกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการเตรียมออกกฎระเบียบของสหภาพยุโรปเพื่อจัดเก็บภาษีดิจิทัลกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เป็นต้น
นางอรมน กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนไทยที่ทำธุรกิจกับสหภาพยุโรป ไทยจึงขอให้สหภาพยุโรปจัดหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงานและให้ข้อมูลในรายละเอียด เพื่อช่วยให้ฝ่ายไทยเข้าใจสาระสำคัญและแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น ขณะที่สหภาพยุโรปได้ให้ความสนใจและสอบถามไทย เรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความคืบหน้าการจัดทำระบบการส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างอาเซียน การปรับแก้ไขกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิต เป็นต้น ซึ่งสหภาพยุโรปเห็นว่า ไทยมีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการค้าที่ก้าวหน้าขึ้นมาก ทั้งกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายแข่งขันทางการค้า และกฎหมายศุลกากร ที่ช่วยทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุนดีขึ้น
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย ปี 2560 มีมูลค่าการค้า 44,302 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปีก่อนหน้า 10.39% โดยไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป 23,700 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 20,602 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในปี 2560 สหภาพยุโรปมีการลงทุนในไทยมูลค่าประมาณ 6,575 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยไปลงทุนในสหภาพยุโรปมูลค่าประมาณ 11,622 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจุบัน สหภาพยุโรปมีการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ และได้สรุปการเจรจา FTA กับเวียดนามและสิงคโปร์แล้ว และอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อจัดทำ FTA กับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย