ธปท.ระบุจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหากศก.โตต่อเนื่อง-เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบชัดเจนขึ้น แต่ต้องรอประเมินผลกระทบสงครามการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 4, 2018 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมิถุนายน 2561 โดยการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยมีแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย และเข้าสู่กรอบเป้าหมายจากราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้นตามราคาในตลาดโลกเป็นสำคัญ ส่วนแรงกดดันด้านอุปสงค์ปรับเพิ่มขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเสถียรภาพระบบการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในจุดต่างๆ ที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในอนาคต

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ชั่งน้ำหนักปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้านในการกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมี มติเป็นเอกฉันท์ (6 ต่อ 0 เสียง) ในการประชุมวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 และมีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ในวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เนื่องจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศให้ขยายตัวได้เข้มแข็งต่อเนื่อง ซึ่งจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับสูงขึ้น และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะเริ่มลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการ กนง.ได้มีการหารือในประเด็นนี้มาโดยตลอด แต่ยังไม่มีการเจาะจงว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเมื่อใด ภายใต้เงื่อนไขอะไร เพราะจะต้องพิจารณาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งความเสี่ยงในอนาคต โดยเฉพาะปัจจัยสงครามการค้า

"คิดว่าในระยะต่อไป การทำนโยบายการเงินคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ประเทศอื่นกลับสู่ภาวะปกติแล้ว กนง. ต้องประเมินปัจจัยทั้งหมดให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะแม้เสถียรภาพภายต่างประเทศจะดี แต่คณะกรรมการฯ ก็ไม่อยากให้ภาคธุรกิจไม่คำนึงถึงอนาคต ที่ภาวะการเงินในตลาดโลกมีความตึงตัว เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดเงิน แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนต่างๆ เช่น การออกตราสารหนี้ ก็ตาม" นายจาตุรงค์ กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.4% และขยายตัว 4.2% ในปี 2562 ซึ่งสูงกว่าที่ประเมินไว้ในรายงานนโยบายการเงิน ฉบับก่อนที่ 4.1% ทั้ง 2 ปี โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจคู่ค้า รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้

การส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้าและในเกือบทุกตลาดส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวที่ 9.0% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 7.0% โดยขยายตัวทั้งในด้านราคาและปริมาณ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจสำคัญซึ่งกดดันบรรยากาศการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงต้องติดตามและประเมินผลกระทบในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

"ความไม่แน่นอนในเรื่องนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะยังไม่มีผลต่อการส่งออกในปี 2561 ที่คาดว่าขยายตัว 9% แต่จะเริ่มมีผลในช่วงปลายปี และจะมีผลมากในช่วงปี 2562 ที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 5% ซึ่งผลจากมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลกระทบทั้งทางตรง เช่น สินค้าเหล็ก ส่วนทางอ้อม จะกระทบห่วงโซ่อุปทานและเกิดการแย่งตลาด การทุ่มตลาดกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ซึ่งประเมินได้ยาก" นายจาตุรงค์กล่าว

ด้านการส่งออกบริการในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย จากจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2561 ปรับเป็น 38.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เดิมที่ 37.6 ล้านคน เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนทั้งประเภทกรุ๊ปทัวร์และประเภท FIT (free and independent traveler) ที่มีกำลังซื้อสูง อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดเส้นทางการบินตรงใหม่จากเมืองรองของจีนมายังไทยมากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการของสายการบินและสนามบินในช่วงที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาขีดจำกัดของท่าอากาศยานหลักในการรองรับนักท่องเที่ยว

การบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้น โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากครัวเรือนนอกภาคเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงที่รายได้ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ครัวเรือนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นบ้างตามการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะภาคก่อสร้างและภาคบริการ อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ครัวเรือนจำเป็นต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานที่ยังคงอยู่ จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ไม่สูงมาก

สำหรับการลงทุนภาครัฐ ในปี 2561 ปรับลดลงตามการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เนื่องจากติดปัญหาการเข้าพื้นที่และปัญหาการก่อสร้าง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐในปี 2562 ปรับเพิ่มขึ้นจาก (1) การปรับสัดส่วนกรอบงบประมาณปี 2562 ให้เป็นงบลงทุนมากกว่าที่เคยประเมินไว้ (2) เม็ดเงินของโครงการลงทุนที่เลื่อนมาจากปี 2561 และ (3) แผนการเบิกจ่ายโครงการรถไฟทางคู่ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชน

ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ จากราคาในหมวดพลังงานที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลก อย่างไรก็ดี มาตรการควบคุมราคาหมวดพลังงานของภาครัฐมีส่วนช่วยให้ต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนอาหารสำเร็จรูปปรับสูงขึ้นไม่มากนัก โดยคณะกรรมการฯ จึงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 ไว้ที่ 1.1% และปี 2562 ที่ 1.2% พร้อมกับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2561 ไว้ที่ 0.7% และปี 2562 ที่ 0.9%

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ประมาณการเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าที่เคยประเมินไว้ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ (1) นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากการหาตลาดใหม่ของประเทศที่ได้รับผลกระทบ (trade diversion) ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกของไทยและบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนมากกว่าที่ประเมินไว้ (2) การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ต่ำกว่าคาดในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศอยู่บ้าง ได้แก่ (1) การบริโภคภาคเอกชนอาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังไม่กระจายตัวเต็มที่ และ (2) ผลจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่อาจทำให้บางหน่วยงานภาครัฐเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ากว่าคาด

ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ยังมีอยู่ตาม (1) เศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวช้ากว่าที่คาด หากทางการจีนใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และ (2) การใช้จ่ายในประเทศที่อาจมีมากกว่าคาด ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการร่วมลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชน

สำหรับภาวะการเงินไทยยังคงผ่อนคลาย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นปรับเพิ่มมาใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น เนื่องจากอุปทานพันธบัตรสูงขึ้นและอุปสงค์ของนักลงทุนต่างชาติลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะกลางและยาวปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อไทยออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด สำหรับเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาสก่อน สอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ตามเงินดอลลาร์ สรอ.ที่กลับมาแข็งค่า

เสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเปราะบางในบางจุดที่ต้องติดตาม ได้แก่ (1) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) มีต่อเนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน (2) ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและตลาดการเงินโลก อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดพันธบัตร (yield snapback) และการต่ออายุเงินกู้ยืม (roll-over) ของภาคธุรกิจที่ระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะสั้น (3) คุณภาพสินเชื่อที่โดยรวมทรงตัว แต่ด้อยลงในบางกลุ่มครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูงและ SMEs ที่มีขนาดเล็กและมีฐานะทางการเงินอ่อนแอ และ (4) ภาวะอุปทานอสังหาริมทรัพย์คงค้างในบางระดับราคาและบางพื้นที่ โดยเฉพาะอาคารชุดระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่ยังมีอุปทานคงค้างในระดับสูง และใช้ระยะเวลาในการขายหมดค่อนข้างนาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ