กนง.-กนส.ชี้เสถียรภาพระบบการเงินไทยอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเปราะบางในบางจุด แนะจับตาภาคอสังหาฯ-สหกรณ์ออมทรัพย์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 5, 2018 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินของไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมมีความเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ปรับดีขึ้น ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศมีความเข้มแข็ง สะท้อนจากภาระหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมีส่วนช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศและภาวะการเงินโลกที่ผันผวนขึ้น จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและความกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ระบบการเงินไทยยังมีความเปราะบางในบางจุดที่อาจมีนัยต่อเสถียรภาพในระยะข้างหน้า โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเปราะบางมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นและภาระหนี้ของผู้กู้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ขณะที่ยังต้องติดตามภาวะอุปทานคงค้างต่อไป และ (2) พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง

ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการสะสมความเปราะบางมากขึ้นในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนจากสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ของ ธพ. ที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (loanto-value:LTV) เกินร้อยละ 90 เพิ่มขึ้น และอัตราส่วนสินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ (loan-to-income: LTI) โน้มสูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยด้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL ratio) ที่ยังปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แม้ฐานะการเงินโดยรวมของ ธพ. จะมีความเข้มแข็ง แต่ ธพ. ควรระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในลักษณะดังกล่าว ซึ่งทำให้ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้สูงและอาจกระทบกับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะอุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยอาคารชุดบางทำเลและบางระดับราคายังระบายออกได้ช้า ในขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ระดมทุนผ่านสินเชื่อ ธพ. และตราสารหนี้เพื่อขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานเร่งตัวขึ้นในอนาคต ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ติดตามและประเมินภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางทำเล รวมถึงอุปทานของพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกที่อาจจะเร่งตัวขึ้นจากโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (mixed-use) ในอนาคต

ส่วนพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์สะท้อนจากเงินรับฝากและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังขยายตัวในอัตราสูง ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่บางแห่งมีการพึ่งพาเงินกู้ยืมระยะสั้นมากขึ้น เมื่อภาวะการเงินตึงตัวและอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการระดมทุน ต้นทุนทางการเงิน มูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์และสภาพคล่องโดยรวมในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ได้

ที่ประชุมจึงเห็นว่าการเร่งยกระดับการกำกับดูแลและการปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเฉพาะรายที่มีขนาดใหญ่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินงานได้สอดคล้องกับปรัชญาของสหกรณ์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินโดยรวม และพร้อมรองรับภาวะการเงินที่อาจตึงตัวขึ้นในระยะข้างหน้า

สำหรับพฤติกรรม search for yield ในภาคส่วนอื่นยังไม่มีสัญญาณที่น่ากังวล การลงทุนในกองทุนรวมยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยพบว่าผู้ลงทุนหันมาลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้มากขึ้น ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIFs) ชะลอตัวลงจากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การออกตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำชะลอลงหลังจากเกิดกรณีผิดนัดชำระหนี้ในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขาย ตราสารเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของตัวกลางให้เหมาะสมมากขึ้นในระยะต่อไป

"ระบบการเงินไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กระจายตัวเต็มที่ ที่ประชุมจึงเห็นว่าต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับระบบการเงินไทย ได้แก่ ผลกระทบหากภาวะการเงินตึงตัวรุนแรงต่อการต่ออายุเงินกู้ยืม (roll-over) และต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพาการออกตราสารหนี้สูง ความสามารถในการชำระหนี้ของ SME และภาคครัวเรือน ภาวะอุปทานคงค้างในอาคารชุดและอุปทานของพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกที่อาจเร่งขึ้นจากโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (mixed-use) รวมถึงพฤติกรรม search for yield ซึ่งอาจนำไปสู่การ underpricing of risks โดยเฉพาะพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์" เอกสารเผยแพร่ ธปท. ระบุ

ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จะร่วมกันประเมินและติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงและบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในแต่ละช่วงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจกระทบกับเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ