(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิ.ย.อยู่ที่ 81.3 กลับมาปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามกำลังซื้อฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 5, 2018 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือนมิ.ย. 61 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 81.3 จาก 80.1 ในเดือนพ.ค.61 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.9 จาก 66.9 ในเดือนพ.ค.61

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 76.4 จาก 75.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.5 จาก 98.3

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิ.ย. กลับมาปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ราคาสินค้าเกษตรหลายตัวปรับตัวดีขึ้น

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)คงดอกเบี้ย, กนง.ปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 61 เป็นโต 4.4%, การส่งออกเดือนพ.ค.ขยายตัว 11.4%, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายตัวปรับตัวดีขึ้น และเงินบาทปรับอ่อนค่า

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ผู้บริโภคกังวลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว, ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นความเป็นห่วงการเลื่อนเลือกตั้ง และความกังวลปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.61 กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีทุกรายการ ซึ่งในเดือนนี้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากดัชนีหลายรายการทำสถิติดีสุดในรอบ 1 ปี หรือบางตัวก็ดีสุดในรอบ 3 ปี แต่ต้องรอดูว่าสัญญาณการฟื้นตัวนี้จะนิ่งหรือไม่" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนมิ.ย. เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเป็นลำดับอีกครั้ง หลังจากที่ปรับตัวลดลงชั่วคราวในเดือนพ.ค. เนื่องจากผู้บริโภคกังวลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับจิตวิทยาที่ 30 บาทต่อลิตร ประกอบกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวดีต่อเนื่อง และพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้รายได้ในภาคเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีการคาดการณ์ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวไปยังทุกภูมิภาคมากขึ้นภายในไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเด่นชัดขึ้นในปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4

"แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่มีทิศทางที่จะลดลง แต่เมื่อรัฐบาลออกมาประกาศว่าจะตรึงราคาน้ำมันไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ปัจจัยลบด้านราคาน้ำมันนี้ ก็จะทำให้ผู้บริโภคคลายความกังวลลงไปได้ และเชื่อว่ารัฐบาลจะตรึงราคาน้ำมันในระดับนี้ไปอีกระยะ หรืออย่างน้อยก็ถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มรับรู้ถึงการฟื้นตัวและกระจายตัวได้ในทุกภูมิภาค" นายธนวรรธน์กล่าว

ส่วนปัจจัยเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้น เมื่อประมวลข้อมูลในภาพรวมจากการสอบถามสมาชิกของหอการค้าไทยทั่วประเทศแล้ว ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ ในขณะที่ผลกระทบในปี 62 ยังไม่ชัดเจนนัก

"กรณีสงครามการค้า จากที่ประมวลข้อมูลจากสมาชิกหอการค้าแล้วเชื่อว่าไม่น่าจะมีผลเยอะ หากไม่เพิ่มเติมประเด็นมากขึ้นกับสหภาพยุโรป ส่งออกปีนี้ก็ไม่น่าจะย่อลง เรายังไม่เห็นสัญญาณว่าส่งออกจะกระทบกระเทือน" นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในเดือนหน้า (ก.ค.) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เตรียมจะปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 61 ใหม่ โดยเบื้องต้นคาดว่า GDP จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.5-5.0% จากเดิม 4.0-4.5% ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงถึง 7.2% และปรับตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 8-10% จากเดิม 6-8% โดยในส่วนของ GDP ที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น มองว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีสัญญาณการฟื้นตัวที่เริ่มชัดเจนขึ้น จากการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล ตลอดจนการเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกไทย เชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์ดีจากภาวะเงินบาทอ่อนค่า โดยปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยหนุนรายได้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยได้เป็นอย่างดี

ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นรวม 4 ครั้งภายในปีนี้นั้น แม้จะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกบ้าง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจของไทย เพราะมองว่าในภาพรวมแล้วการเกินดุลจะยังเป็นบวก ขณะที่เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับ 1.50% ไปตลอดจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ไม่สูง และเพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ