รฟท.ชงบอร์ดอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ 8 เส้นทาง วงเงินลงทุนกว่า 4 แสนลบ.ในก.ค. คาดเปิดประมูลได้ปลายปี 61-ต้นปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 5, 2018 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ รฟท.จะนำเสนอคณะกรรมการ รฟท.เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ที่เป็นเส้นทางต่อขยาย 7 เส้นทาง และเส้นทางใหม่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม รวมวงเงินลงทุนราว 4 แสนล้านบาท และคาดว่าจะได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ราวปลายเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นจะออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจร่วมประกวดราคาได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

สำหรับรถไฟทางคู่เฟส 2 มีจำนวน 7 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 62,883.55 ล้านบาท 2.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม.วงเงิน 56,887.78 ล้านบาท 3.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 308 กม.วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท 4.ทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 169 กม.วงเงิน 26,663.26 ล้านบาท 5.ทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. วงเงิน 24,294.36 ล้านบาท 6.ทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 324 กม.วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท และ 7.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม.วงเงิน 8,120.12 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้ง 7 เส้นทางนี้จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 66

ส่วนสายทางใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าโครงการ 67,965.33 ล้านบาท และสายใหม่อีกเส้นทาง ช่วงเด่นชัย -เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. มูลค่าโครงการ 85,345.00 ล้านบาท หาก ครม.อนุมัติแล้วจะมีการจัดจ้างที่ปรึกษาและคณะกรรมการคัดเลือกซึ่งจะร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ขณะเดียวกันก็ดำเนินการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ซึ่งคาดว่าใช้เวลาราว 6 เดือน ซึ่งเป็นแนวเวนคืนใหม่คาดว่าจะใช้เวลาเวนคืนเสร็จราว 2ปี คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 64 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 67-68 ส่วนเส้นทางช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ก็จะมีกระบวนการขั้นตอนเช่นเดียวกันด้วยเพราะเป็นเส้นทางใหม่ที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดินใหม่ คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 67-68

นายวรวุฒิ คาดว่า หลังจาก รฟท.มีเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มเติมเข้ามาจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็นประมาณ 22 ล้านคนในปี 70 จ่ากปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 11 ล้านคน และยังมีการขนส่งสินต้าเพิ่มเติมเท่าตัวด้วย

ขณะเดียวกันเตรียมเพิ่มกำลังคนอีกราว 5 พันคน จากปัจจุบันมีพนักงานที่บรรจุเป็นพนักงาน รฟท.แล้ว 1.4 หมื่นคนที่จะเข้ามาเพิ่มรองรับการเดินรถไฟทางคู่ และระบบอาณัติสัญญาณาระบบใหม่ ซึ่งจะเป็นระบบควบคุมรวมศูนย์

นายวรวุฒิ คาดว่า ในปีนี้ รฟท.จะมีรายได้ใกล้เคียงปีก่อนอยู่ที่ 9 พันล้านบาท มาจากรายได้การเดินรถโดยสาร 4 พันล้านบาท ขนส่งสินค้า 2 พันล้านบาท และรายได้จากการบริหารทรัพย์สินอีก 3 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามในปี 63 รฟท.จะเข้าบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงรังสิต-ดอนเมือง และในปีนี้จะจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารจัดการทรัพย์สิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ