นายวิชัย โภชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ได้เปิดตัวโครงการธงฟ้าประชารัฐโดยใช้โทรศัพท์มือถือ กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดรับสมัครร้านค้ารายย่อยให้เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. จนถึงปัจจุบัน มีร้านค้าได้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 15,000 ราย โดยกระทรวงฯ ได้จัดส่งรายชื่อในล็อตแรกให้กรมบัญชีกลางอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการแล้ว 5,000 ราย ส่วนร้านค้าที่เหลือจะทยอยส่งรายชื่อผู้สมัครให้กรมบัญชีกลาง วันละ 3,000-5,000 ราย และกรมบัญชีกลางจะส่งให้ธนาคารกรุงไทยนำเข้าระบบได้ตั้งแต่วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการชำระราคาสินค้าได้ทันทีเมื่อได้นำเข้าสู่ระบบถูกต้องแล้ว
"กระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งเปิดรับสมัครร้านค้าเข้าร่วมโครงการผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ถึงปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องมากกว่า 15,000 รายแล้ว และจะเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าประชาสัมพันธ์ และอำนวยความสะดวกให้กับร้านค้าในการสมัครเข้าร่วมโครงการอย่างเต็มที่"นายวิชัยกล่าว
พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ขอเชิญชวนร้านค้าพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับประชาชน เช่น ร้านหนูณิชย์ ตลาดต้องชม ตลาดกลางสินค้าเกษตร ให้สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยเบื้องต้นตั้งเป้าร้านที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการ แยกเป็น ร้านอาหาร 20,000 ร้าน, ร้านค้าในตลาดสด เช่น ขายเนื้อหมู ไก่ ปลา ไข่ไก่ 30,000 ร้าน, ร้านค้าในตลาดต้องชม 3,000 ร้าน, ร้านค้าในตลาดกลางผักและผลไม้ 2,000 ร้าน และร้านขายผลิตภัณฑ์ชุมชน รถเร่ 2,000 คัน โดยกระทรวงฯ มั่นใจว่าจะมีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 100,000 ราย ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
นายวิชัย กล่าวว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์จากจำนวนผู้ซื้อที่เป็นผู้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ซื้อทั่วไปที่เห็นว่าราคาสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐจะช่วยลดภาระค่าครองชีพได้ ถือเป็นการกระจายรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้ารายย่อยอีกทางหนึ่ง ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะมีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยในการซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งการซื้อสินค้าจากร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC และร้านค้ารายย่อยที่รับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นทางมือถือ ซึ่งจะกระจายตัวอย่างทั่วถึงทุกชุมชน นอกจากนั้น ยังเป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้าชุมชนในท้องถิ่นให้สามารถจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ได้เปิดรับสมัครใหม่ได้มากขึ้นด้วย
สำหรับร้านค้ารายย่อยที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าเพื่อการศึกษา สินค้าวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม ยารักษาโรค ผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน มีทำเลที่ตั้งแน่นอนและจำหน่ายสินค้าเป็นประจำ ถ้าไม่มีที่ตั้งแน่นอนจะเป็นรถยนต์เร่ขายสินค้าก็ได้ แต่ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิการติดตั้งเครื่องรูดบัตรหรือไม่เคยปฏิเสธหรือขอคืนหรือยกเลิกการติดตั้งเครื่องรูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และต้องมีโทรศัพท์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ที่รองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ Version Kitkat 4.4 ขึ้นไป หรือระบบปฏิบัติการ IOS Version 9.0 ขึ้นไป และต้องสามารถเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการรับชำระค่าสินค้าได้
ส่วนขั้นตอนการสมัคร สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.moc.go.th หรือรับใบสมัครและ สมัครได้ที่ ศูนย์บริการประชาชนกระทรวงพาณิชย์ ชั้น 3 (อาคารริมน้ำ) กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด และยังเปิดรับสมัครทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด้วย ที่กรุงเทพฯ ส่งที่กองบริหารการพาณิชย์ภูมิภาค สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 โดยระบุมุมซองว่า "สมัครร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ" ต่างจังหวัด ส่งที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ โดยระบุมุมซองว่า "สมัครร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ"
ทั้งนี้ หลังจากยื่นใบสมัครแล้ว เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องและรวบรวมรายชื่อจัดส่งให้กรมบัญชีกลางเพื่ออนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ธนาคารกรุงไทยจะจัดส่งข้อความสั้น (SMS) ผ่านเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้สมัครให้ไว้ และให้นำหนังสือรับรองที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ออกให้ พร้อมโทรศัพท์มือถือไปติดต่อธนาคารกรุงไทยสาขาที่ผู้สมัครมีภูมิลำเนาตั้งอยู่หรือใช้บริการ เพื่อขอเปิดใช้บริการ Net Bank ติดตั้งโปรแกรม "ถุงเงินประชารัฐ" และเปิดรหัสการใช้งาน จากนั้นสามารถเปิดจำหน่ายสินค้าโดยรับชำระเงินจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เลย ส่วนเงินค่าสินค้า กรมบัญชีกลางและธนาคารกรุงไทยจะโอนเข้าบัญชีในวันทำการถัดไปหลังการจำหน่ายสินค้า
นายวิชัย กล่าวว่า ในส่วนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเดิมที่มีเครื่อง EDC กว่า 30,000 ร้านค้าทั่วประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นร้านค้ามืออาชีพ โดยจัดทำหลักสูตรพัฒนาร้านค้า เช่น ความรู้ด้านภาษี การบริหารจัดการร้านค้า เป็นต้น และร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อดำเนินการทั่วประเทศกว่า 300 รุ่น ระหว่างเดือนกรกฎาคม–กันยายน 2561 และพัฒนาการบริหารจัดการร้านค้าโดยส่งเสริมให้มีศูนย์ประสานร้านค้าระดับตำบล อำเภอและจังหวัด เพื่อใช้เป็นศูนย์ในการรวบรวมผลิตภัณฑ์จากชุมชนกระจายไปยังร้านค้าธงฟ้าประชารัฐทั่วประเทศ เช่น กะปิ น้ำพริก ปลากรอบ ขนมพื้นบ้าน ข้าวสาร และผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ เช่น กล้วย สับปะรด ถั่วฝักยาว ฟักทอง เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตชุมชนให้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นและเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐให้มากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้พาณิชย์จังหวัดแจ้งให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐทุกร้านจัดให้มีมุมขายสินค้าชุมชน และสินค้าธงฟ้าประชารัฐราคาประหยัด เพื่อเป็นทางเลือกในการลดค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรและประชาชนทั่วไป หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ให้ความร่วมมือ ให้ดำเนินการตักเตือนให้ปรับปรุงภายใน 7 วัน และหากยังเพิกเฉยจะถูกถอดถอนรายชื่อจากร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เพื่อจัดหาร้านค้าที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการทดแทน
"กระทรวงพาณิชย์ มีความมั่นใจว่าร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพราะสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนทั่วประเทศกว่า 4,000 ล้านบาทต่อเดือน" นายวิชัยกล่าว