นายมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เปิดเผยว่า จากการเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน(Market Sounding) ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อให้การรับรองการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟ และเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) นั้น เห็นว่าน่าจะมีการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนอีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน เช่น ระยะเวลาสัมปทาน ซึ่งในแผนกำหนดไว้ว่าควรจะมีระยะเวลา 30-35 ปี เพราะไม่นานเกินไป แต่ภาคเอกชนมองว่าควรจะมีระยะเวลาสัญญาสัมปทานเป็น 40-45 ปี เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุน รวมถึงเรื่องสัดส่วนนักลงทุนระหว่างนักลงทุนไทยกับนักลงทุนต่างชาติ ที่แผนกำหนดสัดส่วน 51% ต่อ 49% แต่มีผู้เสนอว่าควรจะเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติเป็น 75% ทั้งนี้ ทลฉ.ยังยืนยันสัดส่วนเดิม เพราะเห็นว่านักลงทุนมีศักยภาพพอที่จะลงทุนได้
นายมนตรี กล่าวต่อว่า การเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนในครั้งที่ 3 นี้ มี 12 กลุ่มผู้ประกอบการที่มาเสนอความคิดเห็น ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเดินเรือ และผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ อาทิ กลุ่มฮัทชิสัน จากประเทศฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ ดูไบ และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีนำข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนทั้งหมดเสนอให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการอีอึซี แสดงความคิดเห็นก่อนสรุปข้อมูลนำเสนอคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม กทท.ยังคงเป้าหมายเปิดประมูลยังวางไว้ในเดือนส.ค.นี้ เป็นไปตามกำหนดเดิมหรืออย่างช้าประมูลภายในปีนี้ โดยขณะนี้พื้นที่โซน F มีความพร้อมในการประมูลมากที่สุด
ทั้งนี้ แผนการเปิดประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะมีการประมูล 3 สัญญา คือ โซน E มีพื้นที่ความยาวหน้าท่า 1,500 เมตร, โซน F มีพื้นที่ความยาวหน้าท่า 2,000 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด และโซน E0 เป็นพื้นที่ก้นอ่าว มีตวามยาวหน้าท่า 920 เมตร
ด้านตัวแทนจากภาคเอกชน ให้ความเห็นว่า บริษัทต้องการให้ประมูลพื้นที่โซน F และโซน E พร้อมกัน ซึ่งพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังมีความต้องการใช้อยู่มาก ซึ่งผู้ประกอบการท่าเรือรายใหญ่ของโลกก็ได้มาดำเนินธุรกิจในท่าเรือแหลมฉบังอยู่แล้ว