นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยจำนวนมากในอุตสาหกรรมสุขภาพยังไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยที่ถูกต้องตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขได้ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องหมาย อย. GMP และ HACCP เป็นต้น เนื่องจากขาดเงินทุนกับความรู้ ทำให้เสียโอกาสการขยายตลาดให้กว้างไกล บางรายต้องถูกสั่งปิดโรงงานหรือสถานประกอบการ เพราะการผลิตขัดกับกฎหมาย
ดังนั้น ธพว. จึงได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ช่วยกันยกระดับเอสเอ็มอีอุตสาหกรรมสุขภาพให้สามารถเข้าสู่ระบบมาตรฐานได้โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่คัดกรอกผู้ประกอบการที่ต้องการขอใบอนุญาตมาตรฐานต่างๆ แต่ขาดเงินทุนส่งต่อมาให้ ธพว. เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยถูก 1% และ 3%ซึ่งจะผ่อนเกณฑ์การพิจารณาพิเศษ โดยให้เงินทุนล่วงหน้า ตั้งแต่ยังไม่มีใบอนุญาตครบถ้วน เพื่อให้มีเงินทุนนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงโรงงาน สถานที่ผลิต บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ จนสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขสำเร็จควบคู่กับ 3 หน่วยงานร่วมกันจัดกิจกรรมอบรมความรู้แก่ผู้ประกอบการด้านสุขภาพซึ่งจะเป็นแนวทางให้สามารถเข้าสู่มาตรฐานได้และมีศักยภาพธุรกิจสูงขึ้น สามารถดำเนินกิจการอยู่รอด เติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ธนาคารจัดเตรียมสินเชื่อไว้ให้บริการ ได้แก่ สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) และสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาวสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 3 ปีแรกเพื่อธุรกิจเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน และผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม
นายมงคล กล่าวว่า ได้เริ่มนำร่องที่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากมีผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพรวมกันอยู่จำนวนมาก สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการสุขภาพ หรือมหานครสุขภาพ (Health City ) อีกทั้งเชียงใหม่ได้รับคัดเลือกอยู่อันดับ 7 เมืองบริการสุขภาพดีของโลกจาก 231 เมืองทั่วโลก โดยเว็บไซต์ชื่อดัง numbeo.com และถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ลำดับที่ 2 ของโลกและอันดับ 1 ของเอเชียโดยนิตยสาร Travel+Leisure โดยเบื้องต้นคัดเลือกผู้ประกอบการ 70 ราย เข้าสู่กระบวนการอบรมและพัฒนาโดยเริ่มทยอยอนุมัติสินเชื่อจาก SME Development Bankได้แล้ว เช่น หจก.ไข่เค็มราเชนทร์ ผู้ผลิตน้ำพริกไข่เค็ม แบรนด์ "ไข่เค็มราเชนทร์" บริษัท บีสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอาง แบรนด์ "Be Kids" และบริษัท ไบโอฟู้ด อินดัสทรี้ จำกัด ผู้ผลิตกล้วยหอมทองแปรรูป แบรนด์ "jmm fruit" เป็นต้น หลังจากนี้ จะขยายการสนับสนุนไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป