"สมคิด" ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน วอนทุกฝ่ายร่วมมือใช้ทรัพยากรหมุนเวียน แย้มอยู่ระหว่างหามาตรการส่งเสริม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 9, 2018 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงาน "SD Symposium 2018" โดยระบุว่า แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการของเสียที่บริโภคแล้ว ตลอดจนสินค้าที่หมดอายุ รวมทั้งพลังงานให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม เช่น นำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ออกแบบใหม่ สร้างคุณค่าใหม่ สร้างนวัตกรรมและความร่วมมือเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่าประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น ในแถบสแกนดิเนเวีย, สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ได้นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กับประเทศของตน

ขณะที่ประเทศไทยเองนั้นยังมีข้อจำกัดต่อการนำแนวคิดนี้ไปใช้ให้แพร่หลาย และที่สำคัญคือ ยังขาดการตระหนักรู้ของประชาชน เนื่องจากต่างมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร ซึ่งตราบใดที่ประเทศไทยไม่สามารถสร้างการตระหนักรู้ให้เห็นถึงความจำเป็น และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเอง ต่อองค์กร และต่อประเทศได้แล้ว แนวคิด Circular Economy ก็คงจะเกิดขึ้นได้ยาก

"เราต้องสร้างการตระหนักรู้ ชี้ให้เห็นผลประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเคลื่อนไหวในสังคม...ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังช้าในเรื่องนี้ (Circular Economy)" นายสมคิด กล่าว

พร้อมระบุว่า หลังจากประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้นเป็นอย่างมาก จึงอาจทำให้ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนในสมัยนั้นยังไม่คิดหรือให้ความสำคัญกับเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนเท่าที่ควร แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ของประเทศไทยเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว จึงถือว่าเป็นจังหวะดีในการที่จะคิดหรือดำเนินการอะไรใหม่ๆ เพื่ออนาคตของประเทศที่ยั่งยืน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนรุ่นหลังต่อไป

การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงแค่การขับเคลื่อนของรัฐบาลเท่านั้น แต่ภาคเอกชน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยภาคเอกชนควรนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ส่วนภาคประชาชนควรตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ขยะต่างๆ ที่เป็นผลพวงจากการอุปโภคบริโภคได้หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นทรัพยากร เพื่อช่วยสร้างประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้วยหลักธรรมาภิบาล โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากจากการจูงใจทางภาษี

"ในอดีตถ้าการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมคิดเป็นตัวเงินไม่ได้ การจูงให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นเรื่องยาก แต่ทุกวันนี้ผู้ประกอบการไทยมีจิตสำนึกที่ดีขึ้น ซึ่งในอนาคตอยากให้เกิดความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปลูกฝังไปถึงการศึกษาของเด็กรุ่นใหม่และสตาร์ตอัพที่มีความคิดและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน"นายสมคิด กล่าว

ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (SCG) กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นเพียงการนำทรัพยากรมาผลิต และจบที่การใช้แล้วทิ้งให้เป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้มากที่สุด ด้วยการสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีก เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน

สำหรับการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในเอสซีจีนั้นมีการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.Reduced material use and Durabiliry การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต แต่คงความแข็งแรงทนทานเท่าเดิม 2.Upgrade and Replace การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิมด้วยสินค้าชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3.Reuse and Recycle การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่

นอกจากนี้ เอสซีจียังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ โดยล่าสุดได้ร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในการนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนยางมะตอย เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและชุมชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนนจากคุณสมบัติของพลาสติก และช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำถนนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ