(เพิ่มเติม) SCB EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เป็น 4.3% จาก 4% หลังส่งออก-ท่องเที่ยวโตดี,จับตาความเสี่ยงสงครามการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 9, 2018 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 ขยายตัวที่ 4.3%YOY จากเดิม 4.0%YOY สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา โดยครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีและทั่วถึงมากขึ้นจากแรงส่งของภาคต่างประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง ส่งผลทำให้อุปสงค์ของภาคเอกชนภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวตามมาทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐก็กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงครึ่งปีแรกจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีออกมามากขึ้นจากฝั่งสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศผู้ได้รับผลกระทบ SCB EIC ประเมินว่าในระยะสั้น ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมยังจำกัดเนื่องจากสัดส่วนของมูลค้าการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบเทียบกับการส่งออกรวมของไทยอยู่ในระดับไม่สูง ทำให้การส่งออกในภาพรวมทั้งปี 61 จึงยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามทิศทางการค้าโลก ทั้งนี้ SCB EIC คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยทั้งปีจะเติบโตที่ 8.5%YOY

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสงครามการค้ามีโอกาสทวีความรุนแรงขึ้นได้อีกหลังจากนี้ซึ่งอาจกระทบกับการค้าโลกและภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับกลยุทธ์การรับมือไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่รองรับ หรือการเตรียมความพร้อมกับการแข่งขันที่อาจมีเพิ่มขึ้นในบางตลาด

SCB EIC ระบุว่า กำลังซื้อของภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นจากแนวโน้มรายได้ที่เริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีอุปสรรคปัจจัยภาระหนี้สินที่สูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า รายได้ของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่กลับมาเติบโตในไตรมาสที่ 2 ของปีหลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 9 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ ค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรก็มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปีโดยเฉพาะในสาขาธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมากอย่าง ภาคอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและร้านอาหาร อีกทั้งอัตราการว่างงานในภาพรวมก็มีแนวโน้มลดลงจากช่วงต้นปี

SCB EIC มองว่าในครึ่งปีหลังรายได้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่คาดว่ายังเติบโตได้ส่งผลให้ความต้องการแรงงานยังมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าการเติบโตของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เพราะรายได้จากค่าจ้างแรงงานและรายได้ภาคเกษตรเพิ่งเริ่มฟื้นตัวหลังจากที่ซบเซามาในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็วในช่วงก่อนหน้าและอยู่ในระดับที่สูง โดยผลการสำรวจครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติสะท้อนว่าในระหว่างปี 58-60 ครัวเรือนทุกกลุ่มรายได้มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้แม้รายได้ครัวเรือนจะดีขึ้นในปี 61 แต่บางส่วนอาจต้องถูกนำไปชำระหนี้ จึงทำให้ประโยชน์ของการเพิ่มขึ้นของรายได้ไม่ส่งผ่านมาสู่การบริโภคได้มากเท่าที่ควร

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งสามารถรองรับความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยภายนอกได้ ความผันผวนในตลาดเงินเพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยจากผลกระทบของปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ตึงตัวมากขึ้น การกลับมาแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และความกังวลต่อความเสี่ยงสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงแข็งแรง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีเพียงพอ จะเป็นตัวกันชนที่ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี

นายบรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center SCB มองว่า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐในครึ่งปีหลังนี้มีแนวโน้มขยายตัวดี หลังผลกระทบเริ่มลดลงจากการบังคับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปีนั้น การกระจุกตัวจะค่อยๆ คลี่คลายลงตามรายได้ครัวเรือนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนการจ้างงานและค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างคนไทยที่มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่อาจฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อย่างไรก็ดี ภาระหนี้ครัวเรือนยังถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้จ่ายโดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย

ขณะที่การส่งออกในปีนี้ SCB EIC ได้ปรับคาดการณ์มูลค่าส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นเป็น 8.5% จากเดิมคาดโต 5% จากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ดีในปีนี้ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยกองทุนเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตปริมาณนำเข้าสินค้าทั่วโลกปี 61 เป็น 5.7% จากปีก่อน จากคาดการณ์เดิมที่ 4.3% สนับสนุนให้ความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งไทยยังได้รับการต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP กับสหรัฐฯ ในปี 61-63 ซึ่งช่วยคลายความกังวลต่อผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทย

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอาจได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอีไอซีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปีนี้อยู่ที่ 72 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 33% ในขณะเดียวกัน เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าในอัตราที่น้อยกว่าปีก่อนหน้า หรือมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลง ก็ช่วยลดแรงกดดันต่อรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไทย รวมถึงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยยังค่อนข้างจำกัด โดยข้อมูลในช่วง 5 เดือนแรกของปีภายหลังมาตรการ safeguard tariff ชี้ว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจริง แต่การส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดโลกยังขยายตัวได้ดี สะท้อนว่ายังมีความต้องการสินค้าในกลุ่มดังกล่าวจากตลาดอื่นนอกจากสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาความคืบหน้าของนโยบายดังกล่าวต่อไปในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากเหตุการณ์อาจรุนแรงขึ้นจนกระทบปริมาณการค้าและเศรษฐกิจโลก อีกทั้งนโยบายกีดกันทางการค้าอาจทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิตหรือนำเข้า โดยอาจผลิตในประเทศมากขึ้นและลดการลงทุนนอกประเทศเพื่อผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งจะกระทบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สู่ไทย และกระทบมูลค่าการส่งออกของไทยในอนาคตอีกด้วย

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ไว้ที่ระดับ 1.5% ต่อเนื่องตลอดทั่งไป จากปัจจัยเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่คาดว่าน่าจะปรับขึ้นได้ในช่วงครี่งปีแรกของปี 62 จากกรอบเงินเฟ้อใหม่ และเศรษฐกิจไทยที่น่าจะเติบโตมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทย

สำหรับเศรษฐกิจโลก มองว่า ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และน่าจะเติบโตในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต จากการค้าโลกที่ยังขยายตัวดี, อัตราการว่างงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี, การลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น และนโยบายการสนับสนุนการลงทุนเกื้อหนุน โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว หรือสหรัฐฯ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ยังมีแนวโน้มเร่วตัวจากตลาดแรงงานที่ตึงตัว และส่งผ่านไปยังค่าจ้างที่เริ่มขยับขึ้นในภาวะที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ, ราคาเฉลี่ยน้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้นมาก เนื่องจากปัจจัยเรื่องอิหร่านและเวเนซุเอล่า และอุปสงค์การใช้น้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนทิศทางนโยบายการเงิน เริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายมากขึ้นจากธนาคารการสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกจำนวน 2 ครั้ง และลดงบดุลตามแผน, ECB ยุติการทำมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร และอาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยช่วงครึ่งปีหลังของปี 62, ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงดอกเบี้ยนโยบายและตึงดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ที่ 0% พร้อมทยอยลดมาตรการผ่อนคลายเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ (QQE)

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปีของเศรษฐกิจโลกก็ยังคงมีอยู่ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวเร็วเกินคาด, สถานการณ์การเมืองและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในเขตยูโรโซนและตะวันออกกลาง รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ โดยความเสี่ยงแรกที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวเร็วเกินคาด จากภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเร็ว ประกอบกับราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายภูมิภาคทั่วโลกต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงและเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะถัดไปได้

ความเสี่ยงที่สอง คือ สถานการณ์การเมืองในเขตยูโรโซนและปัญหาในตะวันออกกลาง เช่น นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในอิตาลีและสเปนที่จะส่งผลต่อฐานะการคลังในประเทศ รวมถึงประเด็นความคืบหน้าการเจรจา Brexit ซึ่งแม้ว่าโดยรวมความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเมืองและเศรษฐกิจเขตยูโรโซนในระยะหลังจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน แต่ปัญหาการเมืองภายในอิตาลีและสเปน ยังสามารถบั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนรวมถึงตลาดการเงินโลกได้อย่างต่อเนื่อง และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อสำหรับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำ มันได้ เช่น สงครามในซีเรีย การที่กาตาร์ถูกตัดความสัมพันธ์จากกลุ่มประเทศอาหรับ และการที่อิหร่านถูกคว่ำ บาตรจากสหรัฐฯ เป็นต้น

ความเสี่ยงสุดท้าย คือ มาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งแม้ว่าความเสี่ยงของการลุกลามจนเกิดเป็นสงครามการค้าโลกเต็มขนานด้วยการขึ้นกำแพงภาษีต่อกันอย่างดุเดือดนั้น จะมีความเป็นไปได้ต่ำ แต่ภาคอุตสาหกรรมการส่งออกในทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบจะยังคงต้องติดตามความคืบหน้ามาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นเพื่อประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ