นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างเหมือนบริษัทเอกชน มีรายได้จากการขยายสินค้าและบริการ แต่พันธกิจหลักคือการแก้ปัญหาทางสังคม ไม่ใช่การมุ่งหากำไรสูงสุดมาแบ่งปันกัน
"บ้านเรามีองค์กรที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้หลายแห่ง เช่น ดอยคำ อภัยภูเบศร แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ และต่างจากองค์กรสาธารณะ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศ" นายกอบศักดิ์ กล่าว
สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวคือ การให้สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้แก่ สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร มาตรการส่งเสริมการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม การได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุน และการช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์, การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม, การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ (ควส.) และ การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ (สวส.)
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีองค์กรที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอยู่กว่า 300 แห่ง และองค์กรเอกชนที่มีศักยภาพในการดำเนินกิจการทางสังคม เช่น มูลนิธิ วิสาหกิจชุมชน องค์กรชุมชน สหกรณ์ ตลอดจนบริษัทเอกชนที่ตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินกิจการทางสังคมจะหันมาดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งคาดว่าในระยะ 10 ปีจะมีวิสาหกิจเพื่อสังคมกว่า 1 หมื่นแห่ง
ขณะเดียวกันจะก่อให้เกิดการจ้างงานกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส รวมกว่า 19 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้เปลี่ยนสถานะจากผู้เป็นภาระของสังคมไปเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
นอกจากนี้ยังช่วยให้ประชาชนทั่วไปที่ขาดแคลนเงินทุนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม และเกิดระบบรองรับมาตรฐานและระบบการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการทางสังคม ส่งเสริมการสร้างตลาด และการลงทุนทางสังคมในระยะยาว