ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 ขยายตัวที่ 4.3%YOY จากเดิม 4.0%YOY สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา โดยครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีและทั่วถึงมากขึ้นจากแรงส่งของภาคต่างประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง ส่งผลทำให้อุปสงค์ของภาคเอกชนภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวตามมาทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐก็กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงครึ่งปีแรกจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีออกมามากขึ้นจากฝั่งสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศผู้ได้รับผลกระทบ SCB EIC ประเมินว่าในระยะสั้น ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมยังจำกัดเนื่องจากสัดส่วนของมูลค้าการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบเทียบกับการส่งออกรวมของไทยอยู่ในระดับไม่สูง ทำให้การส่งออกในภาพรวมทั้งปี 61 จึงยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามทิศทางการค้าโลก ทั้งนี้ SCB EIC คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยทั้งปีจะเติบโตที่ 8.5%YOY
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสงครามการค้ามีโอกาสทวีความรุนแรงขึ้นได้อีกหลังจากนี้ซึ่งอาจกระทบกับการค้าโลกและภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับกลยุทธ์การรับมือไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่รองรับ หรือการเตรียมความพร้อมกับการแข่งขันที่อาจมีเพิ่มขึ้นในบางตลาด
SCB EIC ระบุว่า กำลังซื้อของภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นจากแนวโน้มรายได้ที่เริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีอุปสรรคปัจจัยภาระหนี้สินที่สูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า รายได้ของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่กลับมาเติบโตในไตรมาสที่ 2 ของปีหลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 9 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ ค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรก็มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปีโดยเฉพาะในสาขาธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมากอย่าง ภาคอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและร้านอาหาร อีกทั้งอัตราการว่างงานในภาพรวมก็มีแนวโน้มลดลงจากช่วงต้นปี
SCB EIC มองว่าในครึ่งปีหลังรายได้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่คาดว่ายังเติบโตได้ส่งผลให้ความต้องการแรงงานยังมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าการเติบโตของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เพราะรายได้จากค่าจ้างแรงงานและรายได้ภาคเกษตรเพิ่งเริ่มฟื้นตัวหลังจากที่ซบเซามาในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็วในช่วงก่อนหน้าและอยู่ในระดับที่สูง โดยผลการสำรวจครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติสะท้อนว่าในระหว่างปี 58-60 ครัวเรือนทุกกลุ่มรายได้มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้แม้รายได้ครัวเรือนจะดีขึ้นในปี 61 แต่บางส่วนอาจต้องถูกนำไปชำระหนี้ จึงทำให้ประโยชน์ของการเพิ่มขึ้นของรายได้ไม่ส่งผ่านมาสู่การบริโภคได้มากเท่าที่ควร
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งสามารถรองรับความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยภายนอกได้ ความผันผวนในตลาดเงินเพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยจากผลกระทบของปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ตึงตัวมากขึ้น การกลับมาแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และความกังวลต่อความเสี่ยงสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงแข็งแรง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีเพียงพอ จะเป็นตัวกันชนที่ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี
https://www.youtube.com/watch?v=D_9rQhQ1btc&feature=youtu.be