พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกไทยเตรียมความพร้อมหันผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ หลังแคนาดาออกกฎระเบียบสินค้าอาหารใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2018 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลักดันกฎระเบียบฉลากสินค้าอาหารฉบับใหม่ของแคนาดา โดยล่าสุดรัฐบาลแคนาดาได้ประกาศร่างกฎระเบียบฉบับใหม่ออกมาแล้ว โดยกำหนดให้ผู้ผลิตจะต้องมีการแจ้งเตือนข้อมูลบนฉลาก หากสินค้ามีสารอาหาร 3 ชนิดในระดับที่สูง ที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค ได้แก่ สารไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และโซเดียม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ และยังเป็นการป้องกันปัญหาโรคอ้วน ที่ส่งผลกระทบต่อชาวแคนาดา และเพื่อลดภาระการใช้ภาษีและงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ที่เป็นผลมาจากโรคอ้วน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขแคนาดาประเมินว่าหากมีการใช้กฎระเบียบฉลากฉบับใหม่นี้ทันที จะมีสินค้ากว่า 50% ในท้องตลาด โดยเฉพาะสินค้าอาหารสำเร็จรูป จะต้องถูกบังคับให้ใช้ฉลากเตือนดังกล่าว แต่รัฐบาลแคนาดาได้ระบุว่าจะผ่อนผันการใช้ฉลากเตือนออกไปเป็นเวลา 4 ปี เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถปรับเปลี่ยนสินค้าให้กลายเป็นสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกัน แคนาดายังได้ผลักดันเรื่องนี้ในการเจรจา NAFTA 2.0 โดยเห็นว่าควรจะมีนโยบายและมาตรการควบคุมเตือนผู้บริโภค แต่สหรัฐฯ ไม่เห็นด้วย โดยแสดงความเห็นว่าควรมีมาตรการผ่อนคลายในการบังคับใช้ เงื่อนไขในการติดฉลาก และยังมีข้อสังเกตว่าผู้ที่ผลักดันให้สหรัฐฯ ขอให้มีการผ่อนปรนการใช้ฉลากเตือนผู้บริโภคมาจากผู้ผลิตและบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่ต้องการให้มีการบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าว เนื่องจากแคนาดามีการนำเข้าจากสหรัฐฯ มาก และเกรงว่าจะกระทบต่อยอดขายสินค้า

นางจันทิรากล่าวว่า ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร แต่แคนาดาได้ดำเนินการประกาศใช้กฎระเบียบฉบับใหม่นี้แล้ว ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยควรให้ความสำคัญ และเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในอัตราสูง ควรพิจารณาปรับเปลี่ยนสูตรสินค้าให้เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพราะผลจากการบังคับฉลากเตือนผู้บริโภคนั้น อาจส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสุขภาพมากขึ้นและหันไปบริโภคสินค้าประเภทอื่นทดแทน

"ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมปรับตัว และหันมาผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ลดการใช้น้ำตาล ไขมันและโซเดียม และให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ปลอดสารพิษ หรือสินค้าออร์แกนิก เพราะกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกที่กำลังขยายตัว โดยสินค้าเหล่านี้ ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากไทยสามารถสร้างจุดขายได้ ก็จะทำให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้น"นางจันทิรากล่าว

ปัจจุบันแคนาดาไม่ใช่ประเทศแรกในโลกที่เห็นความสำคัญและใช้มาตรการให้ติดฉลากเตือนผู้บริโภคบนสินค้ากับสินค้าที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน โดยปี 2559 ประเทศชิลีถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้มีประกาศใช้กฎระเบียบฉลากสินค้าเตือนผู้บริโภค ที่บังคับให้ผู้ผลิตจะต้องมีการระบุฉลากเตือนสินค้าที่มีปริมาณแคลอรี่สูง รวมถึงสารไขมัน น้ำตาล และโซเดียมในระดับสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ