ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนมิ.ย.ยังลดต่อเนื่อง จากค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2018 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนมิ.ย.61 อยู่ที่ระดับ 44.7 โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 จากในเดือนพ.ค.61 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 44.9 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย และราคาสินค้าในหมวดเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว นอกจากนี้ ดัชนีองค์ประกอบสะท้อนมุมมองของครัวเรือนต่อประเด็นเรื่องรายได้ และการมีงานทำปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังประคองตัวอยู่เหนือระดับ 50.0 ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สอดคล้องไปกับตัวเลขอัตราการว่างงานในเดือนมิ.ย.61 ที่อยู่ที่ 1.1% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 1.0%

ส่วนดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 46.2 ในการสำรวจช่วงเดือนพ.ค.61 มาอยู่ที่ระดับ 46.5 ในการสำรวจช่วงเดือนมิ.ย.61 สะท้อนความกังวลที่บรรเทาลงของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3/2561 (เดือนก.ค.–ก.ย.) โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องภาระค่าครองชีพที่ครัวเรือนมีความกังวลลดลง หลังจากที่ภาครัฐมีมาตรการควบคุมดูแลค่าสาธารณูปโภคไปจนถึงสิ้นปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นการตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ใช้ในการประกอบอาหาร การตรึงราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นพลังงานหลักของการขนส่งสาธารณะ รวมถึงการตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2561 นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการกำกับดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคควบคุมไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าทางอ้อม (ปรับลดปริมาณสินค้า แต่ขายราคาเดิม) อย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เช่น น้ำยาสระผม น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ล้างจาน เป็นต้น

"ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) และราคาสินค้าในหมวดเครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ตาม ประเด็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว โดย ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นจากความกังวลเรื่องภาระค่าครองชีพที่ลดลง หลังภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือบรรเทาค่าสาธารณูปโภคจนถึงสิ้นปี 2561" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าครัวเรือนจะมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะการครองชีพในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่ยังต้องติดตามในประเด็นเรื่องรายได้และค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะรายได้ครัวเรือนเกษตรและครัวเรือนที่ทำการค้า เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เข้าสู่ฤดูฝนจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ และด้านรายจ่ายจากรายการพิเศษในช่วงวันหยุดยาว เช่น ท่องเที่ยว ทำบุญ กินเลี้ยงสังสรรค์ กลับภูมิลำเนา เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ