พาณิชย์ ปลื้ม WIPO ปรับอันดับนวัตกรรมของไทยดีขึ้น 7 อันดับ สู่อันดับที่ 44 ของโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 12, 2018 09:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลของสหรัฐอเมริกา และสถาบันด้านการบริหารธุรกิจของสิงคโปร์ (INSEAD) ได้เปิดเผยรายงานการประเมินผลดัชนีนวัตกรรมโลก (The Global Innovation Index: GII) ประจำปี 2561 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการจัดอันดับด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมของ 126 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ไทยได้รับการปรับอันดับดีขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับที่ 51 มาเป็นอันดับที่ 44 ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ จากการประเมินตัวชี้วัด (Indicators) 80 ตัว ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย การเมืองและกฎหมาย ทุนมนุษย์และการวิจัย อินฟราสตัคเจอร์ สถานะทางการตลาด การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เทคโนโลยี และผลงานสร้างสรรค์ ที่จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านต่างๆ ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศผู้นำในหลายด้าน เช่น การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (ไทยอยู่อันดับที่ 6) การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง (ไทยอยู่อันดับที่ 8) และการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร (ไทยอยู่อันดับที่ 11) และยิ่งไปกว่านั้น องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และหน่วยงานที่ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ได้ระบุว่าไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาด้านนวัตกรรม

อนึ่ง ประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรกในการจัดอันดับครั้งนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน อังกฤษ สิงค์โปร์ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เยอรมัน และไอร์แลนด์ โดยประเทศสมาชิกอาเซียน มีเพียงสิงคโปร์ (อันดับที่ 5) ประเทศเดียวที่ติด 1 ใน 10 ประเทศผู้นำด้านนวัตกรรม รองลงมา คือ ประเทศมาเลเซีย (อันดับที่ 35) ไทย (อันดับที่ 44) และเวียดนาม (อันดับที่ 45) ตามลำดับ

นายสนธิรัตน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจมีผลเชื่อมโยงกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากหลายประเทศที่ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนั้นมาจากแนวโน้มที่ลดลงในการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในด้านการส่งเสริม การคุ้มครอง การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ และการป้องกันและปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ตลอดจนการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม และการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ