นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าในปี 2561 จะความต้องการใช้ถั่วเหลือง 2.93 ล้านตัน แต่ผลผลิตในประเทศมีเพียง 37,911 ตัน หรือคิดเป็น 1.30% เท่านั้น ที่เหลือจึงต้องนำเข้า 98.70% จากประเทศบราซิล สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และแคนาดา โดยนำมาใช้สำหรับกลุ่มสกัดน้ำมัน กลุ่มอาหารสัตว์ (ถั่วนึ่ง) และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร
โดยสถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองของไทย ปี 2561/62 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.132 ล้านไร่ ผลผลิต 37,911 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560/61 ลดลงจากเนื้อที่ 0.135 ล้านไร่ และผลผลิต 38,079 ตัน (ลดลงร้อยละ 2.22 และร้อยละ 0.44 ตามลำดับ) ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 287 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ที่ให้ผลผลิต 281 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.14) ซึ่งเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตลดลงเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง และต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยว ประกอบกับผลตอบแทนจากการปลูกถั่วเหลืองต่ำกว่าพืชแข่งขันชนิดอื่น ส่วนผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภูมิอากาศเอื้ออำนวย โดยราคาเมล็ดถั่วเหลืองเกรดคละที่เกษตรกรขายได้ปี 2561 (มกราคม – พฤษภาคม) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 16.68 บาท
"อุตสาหกรรมถั่วเหลืองของไทยมีความต้องการใช้ผลผลิตถั่วเหลืองจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีการผลิตถั่วเหลืองในประเทศเพียง1.30% ของความต้องการใช้ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 98.70% ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมถั่วเหลืองและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยเป็นวงกว้าง ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศ จึงมีความจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (food security) ของไทยในอนาคต"
เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สศก. จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกร โดยมีนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นที่ปรึกษาการประชุม และมีนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. เป็นประธานการประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณาสถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองและหาแนวทางการเร่งขยายผลผลิตถั่วเหลืองของไทย
สำหรับผลการหารือทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ควรส่งเสริมให้เกิดการผลิตถั่วเหลืองในประเทศ เนื่องจากมีความต้องการสูง อีกทั้งถั่วเหลืองที่ผลิตได้ภายในประเทศ เป็นสายพันธุ์ธรรมชาติที่ปราศจากการตัดต่อพันธุกรรม (Non GMOs) จึงเป็นที่ต้องการของตลาดในการผลิตเป็นอาหารปลอดภัย (food safety) ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันหาปัจจัยที่จะสามารถกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูกถั่วเหลืองกันมากขึ้น โดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ในลักษณะ Consumer Centric มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต เกษตรกรมีองค์ความรู้ในเรื่องของการผลิตถั่วเหลืองให้ได้คุณภาพ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มในลักษณะเกษตรกรรมแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสามารถลดต้นทุนการผลิตและการตลาด ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชั้นพันธุ์ขยายที่สามารถรองรับพื้นที่การปลูกถั่วเหลืองได้ประมาณ 200,000 ไร่