น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยน่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้าโลกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงการสั่งซื้อสินค้า และมาตรการที่สหรัฐฯ และจีนขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันทยอยมีผลบังคับใช้จะทำให้หลายประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าไปขายได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯใช้มาตรการกีดกันทางการค้า
ที่ผ่านมา สินค้าไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการส่งออกไปสหรัฐฯ แล้ว คือ แผงโซลาร์เซลส์, เครื่องซักผ้า, เหล็กและอะลูมิเนียม ส่วนกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวน หากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้า น่าจะเริ่มใช้ในช่วงต้นปี 62 เป็นต้นไป
"ที่น่ากังวลขณะนี้ คือผลกระทบทางอ้อมที่ไทยจะได้รับจากการที่สินค้าไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าของทั้งโลก รวมถึงของสหรัฐฯ และจีนด้วย ซึ่งการที่ทั้ง 2 ประเทศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน จะทำให้การส่งออกสินค้าระหว่างกันมีอุปสรรค และสินค้าวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูปจากไทย ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าของทั้ง 2 ประเทศจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ขณะเดียวกัน จะทำให้การค้าโลกและเศรษฐกิจโลกซบเซา เพราะผู้ส่งออกและผู้นำเข้าทั่วโลกไม่สามารถวางแผนได้ว่าจะหาตลาดใดทดแทน เพราะทั่วโลกก็ถูกสหรัฐใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้าเหมือนกันหมด ซึ่งไทยต้องเตรียมแผนรับมือและติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด" ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว
สำหรับกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีสินค้าจีนล็อตใหม่อีกกว่า 6,000 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตรา 10% นั้น ได้ประเมินเบื้องต้น พบว่าสินค้าจากจีนที่จะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษี ได้แก่ สินค้าเกษตร เครื่องนุ่งห่ม สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าไฮเทคโนโลยี โดยมองว่าน่าจะเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรไปสหรัฐฯทดแทนสินค้าจากจีนได้
อย่างไรก็ตาม ปีนี้การส่งออกไทยคงไม่น่าจะได้รับผลกระทบทางตรงจากสงครามการค้า และน่าจะเติบโตได้ 9% จากปีก่อน แต่ต้องจับตาอีกปัจจัยเสี่ยง คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่ลดลงมาอยู่ 70 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งจะกระทบต่อสินค้าในกลุ่มเกี่ยวข้องกับน้ำมัน