สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มีมติในการประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.61 ว่า ไม่ควรเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS9 ออกไปอีก เนื่องจากอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งอาจกระทบถึงผลการประเมินภาพรวมการกำกับสถาบันการเงินของประเทศไทย ขณะที่ภาคธุรกิจได้มีการเตรียมการและทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดย FETCO มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการกำหนดแนวปฏิบัติของแต่ละอุตสาหกรรมร่วมกันเพื่อให้สามารถดำเนินการในทางปฏิบัติได้อย่างราบรื่น
ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standard Board IASB) มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (IFRS9) ที่นำมาใช้ทดแทนมาตรฐานการบัญชี IAS39 โดยมีการปรับปรุงหลักการและวิธีการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน ทำให้สะท้อนความเสี่ยงของกิจการมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.62 นั้น
FETCO) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรในตลาดทุนไทย 7 องค์กร ได้แก่ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้จัดทำและผู้ใช้รายงานทางการเงินของบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน พร้อมที่จะให้การสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีดังกล่าวตามกำหนด เพื่อให้รายงานทางการเงินของธุรกิจมีการรับรู้และวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงินสะท้อนความเสี่ยงของกิจการตามความเป็นจริง มีความถูกต้องและโปร่งใสในเชิงเศรษฐกิจ และงบการเงินของกิจการในประเทศไทยสามารถเปรียบเทียบกันได้กับในระดับนานาชาติ อันจะช่วยทำให้ผู้ใช้งบการเงินและนักลงทุนสามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากมีการเลื่อนการบังคับใช้การปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS9 ตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งอาจกระทบถึงผลการประเมินภาพรวมการกำกับสถาบันการเงินของประเทศไทย โดยปัจจุบันภาคธุรกิจได้มีการเตรียมการและทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และหากมีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถดำเนินการถือปฏิบัติผ่านปีแรกได้ ในปีต่อไปปัญหาในทางปฏิบัติน่าจะลดลงไปมาก
อย่างไรก็ตาม FETCO เห็นว่ายังมีความไม่ชัดเจนในแนวปฏิบัติในหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ กรณีที่ไม่มีมาตรฐานกำหนดเป็นการเฉพาะในแต่ละเรื่อง การคำนวณการกันสำรองด้อยค่าในสินทรัพย์ทางการเงินและการกำหนดมาตรฐานในการวัดมูลค่ายุติธรรม การใช้ดุลพินิจในการจัดประเภทรายการต่าง ๆ ในงบการเงิน เป็นต้น
ดังนั้น FETCO มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถดำเนินการในทางปฏิบัติได้อย่างราบรื่น ดังนี้
(1) พิจารณากำหนดแนวปฏิบัติ (Guideline) ในแต่ละอุตสาหกรรม ให้มีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีแนวปฏิบัติในการบันทึกบัญชีเหมือนกัน โดยอาจให้สมาคมที่เกี่ยวข้องเป็นตัวกลาง
(2) พิจารณากำหนดวิธีปฏิบัติให้ง่ายขึ้นสำหรับการนำมาปฏิบัติใช้ในช่วงแรก เช่น ลดการเปิดเผยข้อมูลบางอย่างในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นต้น
(3) เร่งทำความเข้าใจร่วมกับผู้สอบบัญชีและหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้เห็นพ้องกันถึงวิธีการบันทึกบัญชี รูปแบบงบการเงิน และระบบที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ FETCO และสมาชิก พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาตรฐานการรายงานการเงินของธุรกิจในประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกันกับมาตรฐานสากล มีความถูกต้องและโปร่งใสในเชิงเศรษฐกิจ พร้อมทั้งผู้ใช้งบการเงินและนักลงทุนสามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ