พาณิชย์ มั่นใจยอดใช้สิทธิ FTA ทั้งปีทะลุเป้า 6.5 หมื่นล้านดอลล์ หลัง 5 เดือนใช้สิทธิแตะ 2.8 หมื่นล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 17, 2018 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศมั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในปี 2561 จะมีอัตราการขยายตัวไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกรวม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการประเมินไว้ที่ 9% ทั้งนี้ มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็น 43% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่กรมการค้าต่างประเทศวางไว้ที่ไม่น้อยกว่า 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อยู่ที่ 28,030.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 76.22% ของมูลค่าการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง และเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 20.48% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน (มูลค่า 10,524.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จีน (มูลค่า 7,050.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ออสเตรเลีย (มูลค่า 3,924.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (มูลค่า 3,029.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และอินเดีย (มูลค่า 1,816.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ แยกตามรายประเทศพบว่าอยู่ที่ระดับ 2 หลัก ในทุกตลาดยกเว้นนิวซีแลนด์ที่อัตราการขยายตัวเป็นลบ โดยตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ อินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 28.48% รองลงมาคือ เกาหลีและจีน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 27.84% และ 27.43% ตามลำดับ

แม้ว่าการลงทุนของภาคเอกชนจีนอยู่ในภาวะชะลอตัว หากแต่การขยายการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นมีพลังขับเคลื่อนมากพอที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับออสเตรเลียซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประมาณการอัตราการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าและบริการของจีนและออสเตรเลียปี 2561 อยู่ที่ 5.5% และ 4.2% ตามลำดับสะท้อนความต้องการบริโภคสินค้าและบริการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 ดังนั้น จีนและออสเตรเลียจึงยังคงเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญนอกเหนือจากอาเซียน และญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าดั้งเดิมของไทย รายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่รถยนต์บรรทุก รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ น้ำตาลจากอ้อย และเครื่องปรับอากาศ

นางมนัสนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 5 ระบบ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซียและเครือรัฐเอกราช โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยทั้งในเชิงมูลค่าและอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ คือ สหรัฐอเมริกา กล่าวคือ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-พฤษภาคม) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP อยู่ที่ 1,878.20 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 60.98% ของมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP รวม ซึ่งมีมูลค่า 3,079.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ทั้งหมด พบว่ากว่า 90% เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1,753.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 67.43% ของมูลค่าการส่งออกในรายการสินค้าได้สิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 2,600.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 7.28% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ