นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) มีมติให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ออกไป 1 ปี เป็นวันที่ 1 ม.ค.63 จากกำหนดเดิมวันที่ 1 ม.ค.62 แต่หากผู้ประกอบการรายใดหรือองค์กรใดมีความพร้อมก็สามารถเริ่มใช้ไปก่อนได้
"ในภาพรวมที่ประชุมอยากได้เวลามากกว่า ม.ค.62 จึงมีมติให้ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.63 และมี option ให้ว่าคนที่พร้อมและอยากใช้เลย ก็ใช้ได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.62" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในฐานะประธาน กกบ.
พร้อมระบุว่า การเลื่อนบังคับใช้ IFRS9 ออกไปอีก 1 ปีจะช่วยให้ทุกฝ่ายได้มีเวลาทำความเข้าใจมากขึ้นในการใช้มาตรฐานบัญชีดังกล่าว โดยระหว่างนี้จะให้เวลาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 1 เดือน ไปจัดทำเป็น Action Plan เพื่อใช้เป็นแผนเตรียมความพร้อมให้เกิดความมั่นใจว่าภายในวันที่ 1 ม.ค.62 จะสามารถเริ่มนำร่องปฏิบัติได้ ก่อนที่จะบังคับใช้อย่างจริงจังใน 1 ม.ค.63
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรฐานการบัญชี IFRS9 นี้ คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standard Board IASB) ได้ให้อิสระแต่ละประเทศในการบังคับใช้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับประเทศของตนมากที่สุด ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการศึกษาเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว และได้หารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะปฏิบัติตามมาตรฐาน IFRS9 ทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทประกัน เป้นต้น โดยจัดทำแนวปฏิบัติเฉพาะสำหรับประเทศไทยขึ้นมาที่มีความผ่อนคลายในหลายเรื่อง โดยเป็นการตีความในหลักการตามความเหมาะสมกับสภาวะของแต่ละประเทศ
ส่วนข้อกังวลของภาคเอกชนที่มีต่อนักลงทุนต่างชาติที่อาจจะขาดความเชื่อมั่นหากเลื่อนบังคับใช้ IFRS9 ออกไปนั้น นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ใน Action Plan ที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำนั้น จะมีการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ชัดเจนของการเลื่อนบังคับใช้ รวมทั้งจะระบุด้วยว่าในระหว่างนี้จะมีแผนปฏิบัติอย่างไร ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจะสามารถรับฟังเหตุผลได้
นางนันทวัลย์ กล่าวด้วยว่า จากนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะกลับไปศึกษาเพิ่มเติมในแง่ของผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนความต้องการของ SMEs ซึ่ง กกบ.มองว่าจะเป็นประโยชน์ เพราะจะได้นำมารวบรวมไว้ใน Action Plan ที่กำลังจะจัดทำขึ้น
อนึ่ง คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (IFRS9) ที่นำมาใช้ทดแทนมาตรฐานการบัญชี IAS39 โดยมีการปรับปรุงหลักการและวิธีการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน ทำให้สะท้อนความเสี่ยงของกิจการมากยิ่งขึ้น