ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย เดือน มิ.ย.61 อยู่ที่ 48.4 จาก 47.7 ในเดือน พ.ค.61
โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยในด้านบวก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก, สถานการณ์การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี, สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง, ระดับราคาพืชผลทางการเกษตรบางชนิดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และการขยายตัวของการค้าชายแดนที่ยังคงมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปัจจัยด้านลบ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของไทย, ราคาต้นทุนของผู้ประกอบการยังคงอยู่ในระดับสูง อาทิ เช่น ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างขั้นต่ำ ราคาน้ำมัน เป็นต้น, ราคาผลผลิตทางการเกษตรส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร, ภาคครัวเรือนยังมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย, ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และคู่แข่งทางด้านธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่
สำหรับปัญหาที่ภาคเอกชนเผชิญอยู่ในปัจจุบันที่ต้องการให้มีการแก้ไข ได้แก่ 1. การกระจุกตัวของระดับรายได้ ทำให้การบริโภคสินค้าและบริการในหลายพื้นที่ยังชะลอตัว โดยเห็นว่าภาครัฐ ควรสร้างโอกาสและรายได้ในพื้นที่ด้วยการเกษตรและท่องเที่ยว 2. ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในพื้นที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจข้ามชาติ โดยภาครัฐควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของพื้นที่, รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับคู่แข่งในภูมิภาค, การเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ ให้เป็นไปตามแผน
3. การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการต่อยอดธุรกิจ และการเสริมสภาพคล่องของธุรกิจ โดยเสนอว่าภาครัฐ ควรลดเงื่อนไขของการขอสินเชื่อกับภาคธุรกิจ SMEs เช่น อายุของการเปิดกิจการที่ต้องมากกว่า 3 ปี เป็นต้น และการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงภาคธุรกิจในพื้นที่