พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการช่วยเหลือผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 เรื่อง เรื่องแรก คือการรับเงินช่วยเหลือในโครงการอุดหนุนเด็กแรกเกิด เดือนละ 600 บาท แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ได้ลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้แล้ว แต่ก็มีจำนวนกว่า 2.1 แสนคนที่ไม่มีรายชื่อ จึงขอให้คนกลุ่มนี้ไปลงทะเบียนกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีคนมาลงทะเบียนเพียง 6 หมื่นกว่าคน ยังเหลืออีก 1 แสนกว่าคนยังไม่มาลงทะเบียนจึงขยายเวลาให้มารายงานตัวจนถึง 30 ก.ย.61 ถ้ายังไม่มารายงานตัวอีก จะไม่ได้รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตร
เรื่องที่สองคือการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมี 2 กลุ่มคือผู้ที่มีรายได้ปีละไม่เกิน 1 แสนบาท และผู้มีรายได้ไม่เกินปีละ 3 หมื่นบาท ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมาลงทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 11.47 ล้านราย และได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้ว 11.06 ล้านราย คิดเป็น 96% ที่เหลือขอให้รีบไปติดต่อขอรับบัตรสวัสดิการฯจะได้นำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพ
ขณะที่ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายในการติดตั้งเครื่อง EDC ใช้รูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้ทั้งสิ้น 45,655 เครื่อง ติดตั้งแล้ว 30,460 เครื่อง ที่เหลือที่ยังติดตั้งไม่เสร็จ สามารถไปโหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้อ่านรหัสบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ประชาชนมาใช้ซื้อสินค้าได้ โดยสามารถไปขอโหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวได้ที่ธนาคารกรุงไทย
ในส่วนปัญหาการร้องเรียนเข้ามาว่า มีร้านธงฟ้าจำนวนหนึ่งเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแอบอ้างว่าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 เมื่อซื้อสินค้า
"ท่านนายกฯได้สอบถามกระทรวงพาณิชย์ว่ามีมาตรการยังไง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าได้ประสานกับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของ 1111 และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยได้มีการเพิกถอนร้านธงฟ้าและเรียกคืนเครื่องคืนเครื่อง EDC ไปบ้างแล้ว ซึ่งท่านนายกฯฝากเตือนร้านธงฟ้าและร้านค้าหล่านี้ว่า เราช่วยกันพัฒนาประเทศก็ต้องช่วยกันดูแลประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย"พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังสามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ตั้งแต่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป โดยต้องนำบัตรไปลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.61 เป็นต้นไปสามารถใช้บัตรชำระค่าโดยสารได้หลายชนิด เช่น แอร์พอร์ตลิงค์ รถขสมก. รถไฟฟ้าใต้ดิน เว้น BTS เนื่องจาก BTS เป็นคู่สัญญากับ กทม.ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคม
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้กรณีที่ผู้ถือบัตรใช้บริการรถไฟฟ้าแต่เหลือเงินในบัตรไม่เพียงพอค่าโดยสาร ให้สามารถใช้บัตรได้อีก 1 เที่ยวโดยสารโดยให้ไปทบยอดในเดือนถัดไปได้