นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การหารือร่วมกับนายฟาร์ตี้ ไบโรล์ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ที่ได้เดินทางมาเยือนกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการนั้น ได้มีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ สถานการณ์ทิศทางพลังงานโลก ตลาดน้ำมัน เทคโนโลยีด้านพลังงาน พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นพลังงานโลกที่สำคัญ ๆ โดยมีผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน รวมทั้งผู้บริหารตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
สำหรับประเด็นและกรอบการหารือด้านพลังงานที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย แนวโน้มและทิศทางของตลาดน้ำมัน ทิศทางของตลาดพลังงานในปัจจุบันและอนาคต การพัฒนาพลังงานทดแทน ทิศทางของการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาทิ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) และรูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟภาคประชาชน ที่มีการติดตั้งบนหลังคาผลิตไฟฟ้าใช้เอง และส่วนที่เหลือก็สามารถขายเข้าระบบได้ โดยไม่มีนโยบายที่จะคิดค่าธรรมเนียมติดตั้งโซลาร์บนหลังคา นอกจากนี้แนวโน้มพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 14.5% ของกำลังการผลิตรวม ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับใหม่ ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องเตรียมความพร้อมระบบในการรองรับ สำหรับกรอบหารือจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานได้ใช้โอกาสในการมาเยือนของผู้อำนวยการ IEA ครั้งนี้ หารือประเด็นสำคัญ เช่น ทิศทางความร่วมมือระหว่างไทย และทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงาน ได้ขอความร่วมมือให้ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ร่วมพัฒนาและศึกษานโยบาย องค์ความรู้ ข้อมูล และการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานในสาขาต่างๆ เข้ามาให้คำปรึกษากับไทย โดยเฉพาะในด้านการวางแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานระยะยาวของไทย การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) และการวางแผนด้านการจัดทำสำรองน้ำมัน เป็นต้น โดยองค์ความรู้จาก IEA กระทรวงพลังงานจะได้นำไปปรับใช้ในกระบวนการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานอย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศในระยะยาว
สำหรับการมาเยือนของผู้บริหารระดับสูงจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA นี้ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของไทยในเวทีโลก และย้ำถึงการเป็นพันธมิตรที่ดีระหว่างไทยและ IEA ที่แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่สมาชิกหลัก แต่ถือได้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความร่วมมือและการช่วยเหลือด้านการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านพลังงานในระดับสากลด้วยดีมาโดยตลอด