นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยอาเซียนได้พบหารือกับคู่เจรจา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ในส่วนของการหารืออาเซียน-จีน ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับความตกลงอาเซียน-จีน ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.59 เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และพิธีศุลกากรที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันอาเซียนได้ย้ำข้อเสนอของสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าแห่งอาเซียน ในการประชุมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเหล็กระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของจีน และสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าแห่งอาเซียน เมื่อเดือน มี.ค.61 ณ เมืองซีอาน ประเทศจีน ที่ขอให้จีนช่วยดูแลไม่ให้เกิดการทะลักของเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนสู่อาเซียน โดยขอให้คงมาตรการการยกเลิกการคืนภาษีส่งออก และเชิญชวนจีนเข้ามาลงทุนผลิตเหล็กที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในอาเซียน เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้แก่ผู้ผลิตในอาเซียน ตลอดจนการส่งเสริมให้ใช้เหล็กและผลิตภัณฑ์ของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (B&R) ของจีนในอาเซียน เป็นต้น
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ส่วนการหารือกับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ย้ำเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSMEs) การเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นแนวโน้มของโลก โดยไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า ได้เชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในการผลิต โดยญี่ปุ่นแสดงความยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว
ทั้งนี้ อาเซียนจะนำผลประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เสนอให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนและ 3 ประเทศคู่เจรจาในเดือน ก.ย.นี้ ณ ประเทศสิงคโปร์ ต่อไป โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2557-2560) การค้ารวมระหว่างอาเซียนกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 802,067.81 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปี 2560 การค้ารวมระหว่างอาเซียนกับ 3 ประเทศคู่เจรจา มีมูลค่า 874,622.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 คิดเป็นร้อยละ 15.3
ด้านนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10-12 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนได้หารือกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา
โดยได้หารือความคืบหน้าแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซีย หลังปี 2560 ซึ่งครอบคลุมสาขาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตร พลังงาน MSMEs ขนส่ง และท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังได้หารือเรื่องการจัดทำ MOU ระหว่างอาเซียนกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Commission: EEC) ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการพัฒนาความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union : EAEU) ซึ่งประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์มีเนีย โดยจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับคู่เจรจาดังกล่าว
สำหรับการหารือระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ได้หารือเรื่องความร่วมมือกับอาเซียนใน 4 สาขาใหม่ ได้แก่ มาตรฐานยานยนต์ ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร และการส่งเสริมเวทีภาคเอกชนในประเด็นการค้าดิจิทัล โดยอาเซียนมีท่าทีตอบรับการสร้างความร่วมมือใหม่ๆ กับสหรัฐฯ ในเชิงบวก โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องของอาเซียนนำไปศึกษาในรายละเอียดเพื่อหารือกับฝ่ายสหรัฐฯ ต่อไป
นอกจากนี้ อาเซียนได้หารือกับแคนาดา (Exploratory Discussion) เรื่องแนวทางการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) พบว่าทั้งสองฝ่ายยังมีความคาดหวังและมาตรฐานที่แตกต่างกันในหลายประเด็น เช่น ระดับและรูปแบบการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุน เป็นต้น โดยการจัดทำ FTA จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของทั้งอาเซียนและแคนาดา อย่างไรก็ดี การจัดทำ FTA ต้องคำนึงถึงความพร้อมของสมาชิกอาเซียน และการตัดสินใจในระดับนโยบายด้วย ปัจจุบันอาเซียนและแคนาดามีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของแคนาดา และแคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของอาเซียน