นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกบ.เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางลดผลกระทบอย่างรอบด้านจากการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน – กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) จึงมีมติเลื่อนการบังคับใช้ TFRS 9 เป็นวันที่ 1 มกราคม 2563 แต่ถ้ากิจการใดมีความพร้อมตามกำหนดเวลาเดิมสามารถนำมาใช้ก่อนได้ (Early Adoption) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562
ทั้งนี้ ในการประชุมมีประเด็นหลักที่พิจารณา คือ เนื้อหาของร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน – กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน รวม 5 ฉบับ รวมถึงผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษามาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน – กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) ไปปฏิบัติที่ กกบ.แต่งตั้งขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบบัญชีให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีสากล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือกรณีที่ต้องทำการระดมทุน กู้ยืมเงิน ด้วยต้นทุนการจัดทำงบการเงินที่เหมาะสม
สำหรับ TFRS 9 สภาวิชาชีพบัญชีได้มีการยกร่างมาตรฐานฯ ตั้งแต่ปี 2558 และได้ดำเนินการร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจที่ต้องใช้มาตรฐานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลว่าเมื่อสถาบันการเงินใช้ TFRS 9 แล้วจะต้องมีการกันสำรองเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้ปล่อยกู้ยากขึ้นนั้น จากผลการศึกษาฯ ทำให้ กกบ.ทราบว่าสถาบันการเงินได้มีการทยอยกันสำรองมาอย่างต่อเนื่อง และมีการเตรียมความพร้อมให้กับสถาบันการเงินด้านองค์ความรู้ และให้สถาบันการเงินเตรียมการด้านบุคลากรและระบบงานไว้ตั้งแต่ปี 2558 และให้ใช้หลักการของการกันสำรองตาม IFRS 9 ตั้งแต่ปี 2559 แล้ว โดยการปล่อยกู้จะเป็นไปตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงของแต่ละธนาคาร ที่พิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก
นอกจากนี้ สถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งดูแลผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ธนาคารออมสิน ยังไม่ต้องใช้มาตรฐานนี้พร้อมกับธนาคารพาณิชย์
สำหรับมาตรการสนับสนุนการเตรียมความพร้อม การสร้างองค์ความรู้ และแนวทางการลดผลกระทบจากการนำ TFRS 9 มาใช้นั้น กกบ.เห็นชอบแผนการดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ประกอบด้วย สภาวิชาชีพบัญชี สำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยจะร่วมกันจัดทำคู่มือ ตัวอย่างการคำนวณเงินสำรองอย่างง่าย จะมีการปรับปรุงหลักสูตรการอบรมให้ครอบคลุมหลักการพื้นฐาน และเน้นการทำการอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือ Workshop มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการจัดทำคำอธิบาย หรือการตีความมาตรฐานให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย (Local Interpretation) เพื่อให้มีความยืดหยุ่น สร้างเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ในทิศทางเดียวกัน โดยเป็นไปตามหลักการของ TFRS 9
"กกบ. มอบทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไปจัดทำแผนงานอย่างละเอียด และให้กลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการ ในการประชุมครั้งต่อไป และให้รายงานผลการดำเนินงานต่อ กกบ. เป็นระยะๆ" ปลัดกระทรวงพาณิชยืกล่าว
อนึ่ง มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ตาม TFRS 9 คือ หลักการบัญชีสำหรับการรับรู้รายการบัญชี และการวัดมูลค่าสินทรัพย์ และหนี้สินทางการเงิน เช่น ลูกหนี้ เจ้าหนี้ รวมถึงสัญญาซื้อขายบางประเภท ซึ่งจะช่วยให้งบการเงินของกิจการ สะท้อนถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจและวิธีการบริหารความเสี่ยงของกิจการได้ชัดเจนขึ้น
TFRS 9 เป็นมาตรฐานบัญชีที่บังคับใช้กับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะเท่านั้น เช่น บริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม ตลอดจนบริษัทที่กำลังจะขอจดทะเบียนออกตราสารในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัททั่วไป หรือธุรกิจ SMEs ไม่ต้องใช้มาตรฐานกลุ่มนี้