ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ตามที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นการชั่วคราว โดยเป็นผลสืบเนื่องจากความกังวลถึงปริมาณเหล็กจำนวนมากที่อาจทะลักเข้ามายังตลาด EU จากการเรียกเก็บภาษีนำเข้า (safeguard) ภายใต้มาตรา 232 ของสหรัฐฯ ที่มีผลมาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.61 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวของ EU จะอยู่ในรูปแบบของมาตรการโควตาภาษี (tariff quota) ที่ครอบคลุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กทั้งสิ้น 23 กลุ่ม 1 และจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน นับจากวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น
มาตรการโควตาภาษี (tariff quota) ของ EU มุ่งเน้นไปที่การป้องกันการนำเข้าเหล็กที่สูงเกินมากกว่าการลดปริมาณนำเข้าเหมือนอย่างกรณีของสหรัฐฯ โดยมาตรการ tariff quota ของ EU จะกำหนดปริมาณสูงสุดหรือโควตาในการนำเข้าเหล็กแต่ละผลิตภัณฑ์โดยไม่ต้องเสียภาษี (ประมาณ 55% จากปริมาณเหล็กแต่ละผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามายัง EU เฉลี่ยระหว่างปี 58-60) และหากมีการนำเข้าในปริมาณสูงกว่าที่โควตากำหนดจะต้องเสียภาษีในอัตรา 25% ของ CIF ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการ safeguard ของสหรัฐฯ ที่ทำการเรียกเก็บภาษีการนำเข้าเหล็กตั้งแต่ตันแรก จะเห็นได้ว่ามาตรการ tariff quota ของ EU นั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของปริมาณเหล็กที่สูงเกินผิดปกติ
อีไอซีคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยสู่ตลาด EU เนื่องจากไทยมีรายชื่ออยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งได้รับการยกเว้นจากมาตรการ tariff quota ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่าแผ่นเหล็กกล้าไม่เป็นสนิมชนิดรีดเย็น (HS: 7219.33) และลวดเหล็ก (HS: 7217) จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากเหล็กทั้ง 2 ประเภทเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการไทยมีการทำตลาดใน EU อยู่ก่อนแล้ว และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ EU ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากเกาหลีใต้ สหรัฐฯ แคนาดา จีน และอินเดีย เป็นหลัก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่จะไม่ได้รับการยกเว้นจากมาตรการ tariff quota
ในทางกลับกัน อีไอซีประเมินว่าผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศต่างๆ ที่ไม่สามารถนำเข้าไปทำตลาดใน EU ได้นั้น มีโอกาสที่จะถูกส่งออกเข้ามายังไทย โดยเฉพาะเหล็กแผ่นชุบหรือเคลือบสังกะสี (HS: 7210.49) จากจีน และเหล็กแผ่นรีดเย็น (HS: 7209) จากอินเดีย ที่ในปัจจุบัน ไทยไม่มีมาตรการป้องกันทางการค้ากับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ขณะที่เหล็กแผ่นรีดร้อน (HS: 7208) เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ EU นำเข้าจากอินเดียและเกาหลีใต้สูงกว่าปีละ 2.6 ล้านตัน แต่อีไอซีคาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะไม่ถูกนำเข้ามาไทยในปริมาณมากนัก เนื่องจากไทยมีใช้ safeguard อยู่แล้วในปัจจุบัน
อีไอซีแนะผู้ผลิตแผ่นเหล็กกล้าไม่เป็นสนิมชนิดรีดเย็น (HS: 7219.33) และลวดเหล็ก (HS: 7217) ของไทยควรพิจารณาการขยายตลาดส่งออกไปยัง EU โดยเฉพาะการส่งออกไปยังอิตาลี เบลเยียม และโปแลนด์ เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวของการนำเข้าแผ่นเหล็กกล้าไม่เป็นสนิมชนิดรีดเย็น และลวดเหล็กอย่างต่อเนื่องกว่าปีละ 6% และ 4% ในช่วงระยะเวลา 5 ปีหลังสุด นอกจากนี้ ทั้ง 3 ประเทศยังพึ่งพาการนำเข้าจาก สหรัฐฯ เกาหลีใต้ อินเดีย และจีนเป็นหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ tariff quota ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดส่งออกเหล็กไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว