กกพ.เล็งลดใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าเหลือใบเดียวส่งเสริมการแข่งขัน พร้อมเร่งประกาศโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ในปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 22, 2018 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกเลิกระบบและหลักเกณฑ์ การขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้า จากเดิมผู้ประกอบการจะต้องยื่นขออนุญาตกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงาน กกพ.นั้น มาเป็นการยื่นขออนุญาตกับสำนักงาน กกพ.ที่เดียวแทน พร้อมกับจะลดจำนวนใบอนุญาตให้เหลือเพียง 1 ประเภท จากเดิมที่มี 4 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร เพื่อประกอบกิจการพลังงาน (อ.1) ตามเกณฑ์ของกรมโยธาธิการ, ใบอนุญาตสร้างโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า (รง.4) ตามเกณฑ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) และใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 63

"ภาพรวมของโรงไฟฟ้าในอนาคตจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ก็จะเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนขนาดเล็กลง กระจายตัวในพื้นที่และใกล้เหล่งเชื้อเพลิงมากขึ้น กกพ.เองก็ต้องปรับตัวตามเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก สร้างความคล่องตัว ส่งเสริมการแข่งขัน รองรับแนวทางปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน"นายพรเทพ กล่าว

นายพรเทพ กล่าวว่า กกพ.เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงานปี 2560 เพื่อให้อำนาจ กกพ.ในการดำเนินดำเนินการดังกล่าว โดยสำนักงาน กกพ.จะนำเสนอกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

นอกจากนี้ การประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟใหม่ปี 61-63 คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้ ส่วนอัตราค่าไฟพิเศษต่าง ๆ คาดว่าจะประกาศได้ในต้นปี 62 ซึ่งจะครอบคลุมถึงการประกาศหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการพิเศษ อัตราค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน (Wheeling Charge) ค่าไฟฟ้าตามหมู่เกาะ และอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการทบทวนค่าบริการระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) เพื่อรองรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (Isolated Power Supply :IPS) ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 2,600 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งในส่วนกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งระบบไฟฟ้าหลักของประเทศอยู่ ส่วนค่า Backup Rate สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) นั้นก็จะได้มีการเตรียมความพร้อมและศึกษาว่าจะกระทบกับระบบการผลิตไฟฟ้าภาพรวมหรือไม่ ก่อนจะพิจารณาจัดเก็บ Backup Rate สำหรับกลุ่มโซลาร์หรือไม่ในอนาคต

สำหรับการพัฒนาบทบาท ภารกิจ การกำกับของกกพ. เพื่อรองรับนวัตกรรมทางด้านไฟฟ้านั้น ก็จะมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการกำกับกิจการพลังงาน และการนำ Big Data ไปใช้ประโยชน์ในภาคพลังงาน รวมทั้งทบทวนหลักเกณฑ์ ศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบ Block Chain ประกอบกับศึกษารูปแบบการดำเนินธุรกิจหลากหลายของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยมุ่งเน้นการรองรับการขยายตัวของ EV ทั้งระบบ

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล หนึ่งในกกพ. และโฆษก กกพ. กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายการรับซื้อพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) นั้น ตามข้อมูล ณ เดือนพ.ค.61 มีสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกว่า 9,935 เมกะวัตต์ คิดเป็นราว 60% จากเป้าหมายการรับซื้อ 16,778 เมกะวัตต์ภายในปี 79 ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 7,814 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสำนักงาน กกพ.ยังอยู่ระหว่างการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะชุมชน ตามโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) จำนวน 78 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเปิดให้ยื่นคำร้องเสนอขายไฟฟ้าภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ หลังจากนี้ก็จะยังไม่มีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเติม เพราะต้องรอความชัดเจนจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) และแผน AEDP ใหม่ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงด้วย โดยคาดว่าแผนดังกล่าวจะมีกรอบความชัดเจนภายในเดือน ก.ย.นี้

ณ เดือน มิ.ย. 60 ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ 57,644 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้มาจากระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ราว 79% หรือ 45,696 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากการผลิตไฟฟ้าของกฟผ. ,โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ,โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ส่วนที่เหลือราว 13% หรือ 7,178 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้า SPP ที่ขายไฟฟ้าตรงให้กับลูกค้า และกลุ่ม IPS ซึ่งผลิตไฟฟ้าใช้เองไม่ได้จำหน่ายเข้าระบบ ขณะที่ส่วนที่เหลืออีก 8% หรือราว 4,770 เมกะวัตต์ เป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ที่ส่วนใหญ่จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ,การผลิตไฟฟ้าของ กฟภ. เป็นต้น

นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์นั้น ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3,245 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้เป็นกลุ่มนี้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองและผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับเอกชนด้วยกันโดยไม่เข้าระบบ (Private PPA) รวมประมาณ 150 เมกะวัตต์ และกำลังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังต้นทุนการผลิตถูกลง ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้มาขอจดแจ้งราว 4-5 เมกะวัตต์/สัปดาห์ โดยผู้ลงทุนในลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงมาจดแจ้งเท่านั้นหากมีกำลังการผลิตไม่ถึง 1 เมกะวัตต์ แต่หากมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องขออนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนนั้น โดยเฉพาะในส่วนของโซลาร์ ที่จะเดินเครื่องผลิตได้เฉพาะในช่วงเวลากลางวัน ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยอยู่ในช่วงกลางวัน ก็มาเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ขณะที่ยังมีผลต่อระบบการบริหารจัดการไฟฟ้าของกฟผ.ที่ยังคงต้องมีระบบโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าเช่นเดิม ขณะที่การเดินเครื่องได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะเดินเครื่องไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องหยุดในช่วงเวลากลางวันที่เอกชนหันมาใช้ไฟฟ้าของตัวเองมากขึ้น

ส่วนความคืบหน้าการบริหารจัดการความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาตินั้น ในปี 60 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติให้กฟผ.ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) รายใหม่ ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าปริมาณ 1.5 ล้านตัน/ปี เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.ภายในปี 61 ขณะนี้ทางกกพ.ได้ส่งเรื่องผลกระทบจากการนำเข้า LNG มาใช้ต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นนั้นให้กับกระทรวงพลังงานไปแล้ว หลังจากนี้ กระทรวงก็คงจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านก่อนที่ กฟผ.จะมีการนำเข้า LNG ต่อไปซี่งคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปี 62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ