นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 โดยระบุว่า ธปท.เชื่อมั่นว่าการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนจะต้องอาศัยการมองไกล มีเป้าหมายของการพัฒนาในระยะยาวที่ถูกต้อง ซึ่งการนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินการธนาคาร ไม่ใช่เพียงเพื่อจะช่วยแก้ปัญหาของส่วนรวมและนำพาพวกเราไปสู่สังคมที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สถาบันการเงินที่นำหลักคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจในหลายมิติด้วย เช่น
มิติแรก แนวคิดเรื่องความยั่งยืน และการมองไกลอย่างรอบด้าน จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว การที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนได้ส่งผลให้สังคมมีความคาดหวังสูงขึ้นต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนมาตรฐานเรื่องต่าง ๆ สถาบันการเงินใดที่นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ก่อน ก็จะสามารถตอบโจทย์ความคาดหวังที่สูงขึ้นของสังคมและลูกค้าได้เร็วกว่าคนอื่น และจะกลายเป็นผู้สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จะมีผลต่อรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคต จะสามารถทำธุรกิจได้อย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในหลายมิติ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และความเสี่ยงด้านชื่อเสียง
มิติที่สอง สถาบันการเงินที่บริหารธุรกิจตามหลักความยั่งยืน จะสามารถดึงดูดและรักษาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถให้มาร่วมงานด้วยได้ดีกว่ามาก โดยเฉพาะคนรุ่น Millennial ซึ่งชอบที่จะทำงานในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และสร้าง impact ให้แก่สังคม สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว ความพึงพอใจจากการทำงานไม่ได้มีเพียงผลตอบแทนในรูปตัวเงินเท่านั้น แต่จะต้องรวมถึงผลที่เกิดขึ้นต่อสังคมส่วนรวมด้วย
มิติที่สาม การนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืนมาใช้จะเพิ่มโอกาสให้สถาบันการเงินเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น พัฒนาการของตลาดทุนโลกในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า การลงทุนของกองทุนและสถาบันต่าง ๆ จะนำมิติด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะการปฏิบัติดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น ประเมินกันว่าการลงทุนมากกว่า 1 ใน 4 ของสินทรัพย์ทั่วโลกขณะนี้เป็นการลงทุนที่ใช้เกณฑ์ด้านความยั่งยืน (ESG- Environment, Social, and Governance principles) ประกอบการตัดสินใจ
"เวลานี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่เป็นผู้นำ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้บริหารสถาบันการเงินว่าจะนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืน มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจมากน้อยเพียงใด"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
นายวิรไท ระบุว่า ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นพัฒนาการของภาคการเงินการธนาคารในทิศทางของความยั่งยืนนี้หลายมิติ โดยมิติแรก การยกระดับกฎเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อเพิ่มความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การยกระดับกฎเกณฑ์ที่ดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรม (market conduct) เกณฑ์เพื่อยกระดับธรรมาภิบาลของผู้บริหารของสถาบันการเงิน รวมถึงกรอบจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่สมาคมธนาคารไทยได้จัดทำขึ้น
มิติที่สอง การจัดตั้ง "โครงการคลินิกแก้หนี้" เพื่อช่วยลูกหนี้บุคคลที่สุจริตที่มีหนี้กับเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งปกติแล้วไม่มีทางที่จะเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายได้ โครงการคลินิกแก้หนี้นี้จะช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสหลุดจากวังวนปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว
และมิติที่สาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางในภาคการเงิน เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น รวมทั้งเตรียมเศรษฐกิจไทยให้พร้อมกับการเข้าสู่ยุคดิจิตอล หนึ่งในเรื่องสำคัญ คือ "ระบบพร้อมเพย์" ซึ่งช่วยให้ประชาชนโอนเงินได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
"พัฒนาการเหล่านี้ ได้ทำให้ประสิทธิภาพของระบบการเงินโดยรวมดีขึ้น ช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนฐานรากเข้าถึงบริการทางเงินได้ดีขึ้น ในราคาที่ถูกลง และตรงกับความต้องมากขึ้น รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาหลายเรื่องที่ค้างอยู่ในระบบการเงินไทย มาตรการเหล่านี้ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าภาคการเงินการธนาคารจะสามารถร่วมกันตอบโจทย์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยในระยะยาว" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
พร้อมระบุว่า แม้ว่างานหลายอย่างจะก้าวหน้าไปมาก แต่เราไม่ควรหยุดหรือพอใจกับความสำเร็จที่ผ่านมา ยังมีอีกหลายเรื่องที่พวกเราสามารถร่วมกันทำได้และต้องทำ เพราะสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายหลายด้าน ถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว ก็ยากที่จะแน่ใจได้ว่าสังคมไทยจะพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน ปัญหาและความท้าทายหลายด้านทำให้เราต้องฉุกคิด และตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ซึ่งในวันนี้มี 4 เรื่องที่อยากพูดถึง
เรื่องแรกคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทำให้คนในระดับฐานรากยากที่จะยกระดับฐานะทางสังคมของตน และเป็นปัญหาที่สร้างความเปราะบางให้สังคมไทย และทำให้นโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบได้รับความนิยม ทั้ง ๆ ที่นโยบายประชานิยมเหล่านี้ใช้งบประมาณสูง ไม่ยั่งยืนในระยะยาว และสร้างภาระให้คนในช่วงอายุต่อไป
เรื่องที่สองคือ ปัญหาผลิตภาพแรงงานที่ลดลง มองไปข้างหน้า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้แรงงานในวัยทำงานลดลง การเพิ่มผลิตภาพจะสำคัญมากสำหรับทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ ที่ผ่านมานโยบายส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะสั้น มากกว่ามุ่งที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ระบบการศึกษาของเราไม่ช่วยยกระดับทักษะความสามารถของคนไทยให้มีผลิตภาพสูงขึ้น ถ้าเราไม่ช่วยกันปฏิรูปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว เราต้องถามว่าประเทศไทยจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในอนาคตได้อย่างไร
เรื่องที่สามคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเราละเลย ขาดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและดูแลระบบนิเวศอย่างเหมาะสม การที่คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคเกษตร และยังต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการทำมาหาเลี้ยงชีวิต การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญลำดับต้น ๆ
เรื่องที่สี่คือ ปัญหาคอรัปชั่น การคอรัปชั่นอย่างแพร่หลายเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว การติดสินบนและการเอื้อพวกพ้องเป็นต้นทุนแฝงที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินชีวิตของพวกเราทุกคนแพงขึ้น และสร้างความบิดเบือนให้กับระบบเศรษฐกิจ
นายวิรไท กล่าวว่า ในภาคการเงินก็มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เข้าข่ายการฉ้อฉลคอรัปชั่น เช่น การใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การปั่นหุ้น การฟอกเงิน หรือการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ลูกค้าโดยไม่ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา พฤติกรรมฉ้อฉลคอรัปชั่นเหล่านี้ ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงิน รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องยกระดับการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณของกรรมการและผู้บริหารสถาบันการเงิน และการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม
"เราปล่อยให้ปัญหาต่าง ๆ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรามักคิดเอาเองว่าจะมีคนอื่นลุกขึ้นมาแก้ปัญหาหรือไม่ก็คิดว่าการแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคนอื่น แต่แท้ที่จริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข" นายวิรไทกล่าว
พร้อมระบุว่า ภาคการเงินการธนาคารมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมในวงกว้าง เพราะภาคการเงินการธนาคาร ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ คือ "ทรัพยากรทางการเงิน" (หรือทุน) แม้ว่าที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีในหลายเรื่อง แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่สามารถช่วยกันทำ และต้องทำให้มากขึ้นด้วย เพื่อที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้สังคมไทยพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อลดปัญหาการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสม ลดพฤติกรรมฉ้อฉลคอรัปชั่น และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม