นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาฯ ในระยะแรก 5 ปี (60-64) ที่จะเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (60-79) โดยวางเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะต้องมีการขยายตัวได้ราว 5% ต่อปี ขณะที่ในปีแรกคาดทำได้ราว 3.5% จากการเติบโตอย่างมีข้อจำกัด ทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศที่ยังคงชะลอตัว
ทั้งนี้จากการดำเนินแผนฯ 12 ในระยะ 9-10 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นระยะเริ่มต้นของการวางรากฐานที่สำคัญของประเทศไทย และมีความท้าทายอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระยะแรกในบางเรื่องตัวชี้วัดอาจจะยังคาดหวังได้ยาก แต่ในภาพรวมถือว่าเป็นที่น่าพอใจมาก จากที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายต่างๆอย่างเต็มที่
"ในปีแรกอาจจะยังไม่ถึง 5% แต่ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องคาดว่าน่าจะทำได้ 3.5% ซึ่งหากปัญหาภัยแล้ง และเศรษฐกิจโลกหดไป การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยก็น่าจะทำได้ดีขึ้น โดยเป้าหมาย GDP 5% ถ้าเราเดินตามนโยบายสร้างโอกาสในการลงทุน การพัฒนาให้สอดคล้องกับการลงทุนตามโครงสร้างพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไปก็ย่อมเป็นไปได้"
นอกจากนี้การลงทุนของภาคเอกชนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยังคงชะลอการลงทุนอยู่ แต่ในภาคอื่นๆ ของเศรษฐกิจมีการขยายตัวดีขึ้น ทั้งภาคส่งออก ภาคเกษตร และภาคการบริโภค จึงมองว่าการลงทุนเอกชนน่าจะตามมาได้
พร้อมกันนี้ 10 ยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประกอบด้วย การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์, การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม, การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน, การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน, การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน, การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมมาภิบาลในสังคมไทย ,การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์, การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม, การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ, ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา
ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญให้ตรงจุด และวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง ประกอบด้วยกัน 6 ประเด็นหลัก คือ ศักยภาพคนไทยเพื่ออนาคตประเทศไทย, นวัตกรรมนำสู่อนาคตประเทศไทย, เกษตรกรยุคใหม่เพื่ออนาคตประเทศไทย, โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เพื่ออนาคตประเทศไทย, ภาครัฐดิทัลเพื่ออนาคตประเทศไทย และการพัฒนาพื้นที่ ภาค และเมืองสู่อนาคตประเทศไทย
สำหรับผลการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (55-59) พบว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพนั้น เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 7.3% ในปี 55 และชะลอลงเป็น 0.80% ในปี 57 ก่อนจะขยายตัว 3.2% ในปี 59 โดยมีอัตราการเติบโตตลอดแผนอยู่ที่ 3.41% จากแรงขับเคลื่อนหลัก คือ การท่องเที่ยว และการบริโภคภาคครัวเรือน ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวเฉลี่ย 2.8%
ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเงินเฟ้อติดลบ 0.9%ในปี 58 และเพิ่มเป็น 0.2% ในปี 59 เนื่องจากราคากพลังงานในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นและปรับัวสุงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.27% ตลอดแผนฯ 11 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3.5%
อย่างไรก็ตาม จีดีพีสาขาเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 15.8% ในปี 55 เป็น 13.5% ในปี 58 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ไม่ต่ำกว่า 16% ขณะมูลค่าภาคบริการได้ขยายตัวต่อเนื่องจาก 60.35% ในปี 55 เป็น 64.24% ในปี 59 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย
ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นจาก 0.37% ต่อจีดีพีในปี 54 เป็น 0.62% ในปี 58 แต่ยังไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องไม่น้อยกว่า 1% ของจีดีพี แต่สัดส่วนการลงทุนวิจัยโดยเอกชนต่อภาครัฐอยู่ในสัดส่วน 70 ต่อ 30 เป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 28 ในปี 59 จากอันดับที่ 30 ในปี 58 ซึ่งยังคงไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการขยับขึ้นไปอยู่อันดับที่ 16 ด้านสัดส่วนต้นทุนโลกจิสติกส์ต่อจีดีพีลดลงจาก 14.41 ในปี 55 เป็น 13.86% ในปี 59 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดว่าไม่เกิน 15% ของจีดีพี
นายปรเมธี กล่าวว่า การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น จากการจัดอันดับความสามารถการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดย World Economic Forum (WEF) พบว่าไทยมีคะแนนรวมสูงขึ้นจาก 4.2 คะแนนในปี 58 เป็น 4.4 คะแนนในปี 59 อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกนั้นไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำลงจากอันดับที่ 19 จาก 183 เขตเศรษฐกิจในปี 54 มาเป็นอันดับที่ 49 จาก 189 เขตเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 9 ของเอเชียและอันดับที่ 3 ของอาเซียนในปี 59
การใช้สิทธิประโยชน์จากการตกลงทางการค้าเสรีต่อมูลค่าการส่งออกรวมมีสัดส่วนลดลงจาก 72.21% ในปี 58 เป็น 56.47% ในปี 59 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดให้มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีต่อมูลค่าการส่งออกรวมเป็น 50% ในปี 59 อัตราการเติบโตของมูลค่าการค้าชายแดนไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ มาเลเซีย เมียนมา ลาวและกัมพูชา ยังไม่บรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตของมูลค่าการลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศเพื่อนบ้านบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้การลงทุนโดยตรงของไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านต้องขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี
https://www.youtube.com/watch?v=s-6qoYZfXl0