น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-มิ.ย.61) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,832,121 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 62,408 ล้านบาท หรือ 3.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 5.4%
โดยมีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณการ 27,522 ล้านบาท คิดเป็น 22.9% และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 25,171 ล้านบาท หรือ 23.9% ทั้งนี้ ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีรถยนต์ และภาษียาสูบ
"สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2561 กระทรวงการคลังจะติดตาม และกำกับดูแลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป" โฆษกกระทรวงการคลังระบุ
สำหรับรายละเอียดของผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกปีงบ 61 นั้น ประกอบด้วย
1.กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,356,210 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11,503 ล้านบาท หรือ 0.8% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.1%) เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 20,225 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3% (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6.2%) อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 10,816 ล้านบาท หรือ 26.6% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 44.0%) เนื่องจากมีการชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมย้อนหลัง และผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันปรับตัวดีขึ้น
2.กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 419,258 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,298 ล้านบาท หรือ 1.9% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 0.3%) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 10,672 ล้านบาท คิดเป็น 16.7%, ภาษีน้ำมันฯ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,896 ล้านบาท คิดเป็น 4.8% และภาษีสุราฯ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,144 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.7% เนื่องจากปริมาณเบียร์ น้ำมัน และสุราที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ดี ภาษีรถยนต์และภาษียาสูบ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ ที่ยังขยายตัวได้ดี และภาระภาษีต่อซองของยาสูบหลังจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ สูงกว่าที่ประมาณการไว้
3.กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 81,559 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,041 ล้านบาท หรือ 2.4%(แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.8%) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการจำนวน 2,209 ล้านบาท หรือ 2.7% (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.7%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ขยายตัว 15.3% และในรูปเงินบาทขยายตัว และ 5.8% โดยสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าในช่วง 8 เดือนแรก ได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยานบกและส่วนประกอบ (2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (3) เครื่องจักรและเครื่องใช้กล (4) ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และ (5) พลาสติกและสินค้าจากพลาสติก
4.รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 130,604 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,171 ล้านบาท หรือ 23.9% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 0.8%) ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (2) บมจ. ปตท. (3) ธนาคารออมสิน (4) การทางพิเศษ แห่งประเทศไทย และ (5) บมจ. ท่าอากาศยานไทย เนื่องจากผลประกอบการขยายตัวดี
5.หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 147,944 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 27,522 ล้านบาท หรือ 22.9% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16.2%) เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การนำส่งรายได้ของสำนักงาน กสทช. และการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออก เป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 6,781 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 695 ล้านบาท หรือ 11.4% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 18.8%) โดยรายได้ด้านเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เป็นสำคัญ
6.การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 216,427 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 28,695 ล้านบาท หรือ 11.7% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 161,716 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 27,884 ล้านบาท หรือ14.7% และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 54,711 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 811 ล้านบาท หรือ 1.5%
7.อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 10,198 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,398 ล้านบาท หรือ 30.7%
8.การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 12,527 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,014 ล้านบาท หรือ 7.5%
9.เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 9,035 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,383 ล้านบาท หรือ 37.3% ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จาก 0.75% เป็น 0.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60 เป็นต้นมา
10.การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 1 - 6 จำนวน 55,267 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,137 ล้านบาท หรือ 2.1%
ทั้งนี้ เฉพาะในเดือน มิ.ย.61 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 255,599 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,335 ล้านบาท หรือ 0.9% (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 7.8%) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณ2,960 ล้านบาท คิดเป็น 4.1% ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,822 ล้านบาท คิดเป็น 34.8% และภาษีสุรา จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,525 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.4%
ถึงแม้ว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการ แต่ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว9.0% นอกจากนี้ ปริมาณเบียร์และปริมาณสุราที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,331 ล้านบาท คิดเป็น 2.0% และภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณ 731 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.5%