นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยครึ่งแรกปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 678,623 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออก 385,550 ล้านบาท ลดลง 0.79% และการนำเข้า 293,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.70% แต่ยังเกินดุลการค้า 92,476 ล้านบาท
ทั้งนี้สามารถแยกเป็นมูลค่าการค้าชายแดน 553,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.36% เป็นการส่งออก 325,202 ล้านบาท ลดลง 1.57% นำเข้า 228,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.17% เกินดุลการค้า 96,686 ล้านบาท และมูลค่าการค้าผ่านแดน 124,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.01% เป็นการส่งออก 60,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.69% นำเข้า 64,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.09% ขาดดุลการค้า 4,210 ล้านบาท แต่หากคำนวณเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ พบการขยายตัวเพิ่มมากกว่า เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปี 2561
สำหรับการค้าชายแดนเมื่อแยกเป็นรายประเทศ พบว่า การค้ากับมาเลเซียยังคงนำเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 278,341 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% เป็นการส่งออก 145,136 ล้านบาท ลดลง 7.86% ตามมาด้วย สปป.ลาว มูลค่า 107,742 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.33% เป็นการส่งออก 66,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.66% นำเข้า 41,275 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.93% เมียนมา มูลค่า 97,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.58% เป็นการส่งออก 56,276 ล้านบาท ลดลง 1.71% นำเข้ามูลค่า 40,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.82% และกัมพูชา มูลค่า 70,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.31% เป็นการส่งออก 57,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.56% นำเข้า 13,047 ลดลง 8.05%
นายวันชัย กล่าวว่า ช่วงสองเดือนที่ผ่านมามีปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการค้าชายแดนและผ่านแดน ได้แก่ มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ มูฮัมหมัด ประกาศทบทวนแนวคิด "Malaysia Incorporate" โดยจะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและดำเนินโครงการของรัฐให้ทันสมัยโปร่งใส ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น หลายโครงการถูกทบทวนใหม่ คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะกลับมาสดใสอีก
ขณะที่ สปป.ลาว ได้ประกาศนโยบาย "Visit Laos Year 2018" ตั้งเป้านักท่องเที่ยว 5 ล้านคน ซึ่งช่วงครึ่งปี 2561 ได้แล้ว 2 ล้านคน แต่ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข คือ สร้างถนนเชื่อมโยงสู่แหล่งท่องเที่ยว เช่น ถ้ำในเขตบังละญา แขวงคำมวน ตรงข้ามกับ จ.นครพนม เส้นทางชำรุด เป็นต้น
ส่วนเมียนมาขณะนี้ค่าเงินจ๊าดอ่อนตัวลงมากกว่า 1,400 จ๊าดต่อเหรียญสหรัฐฯ ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินที่เมียนมาจำเป็นต้องนำเข้า กระทบต่อต้นทุนขนส่ง เหตุที่ค่าเงินจ๊าดอ่อนตัวเพราะต่างชาติชะลอการลงทุนเนื่องจากความไม่มั่นคงในรัฐยะไข่ตอนเหนือ แต่เมียนมายังมีปัจจัยบวกจากนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ "เจ้าตาน" (Kyauktan) เมืองเมาะลำไย ทำให้การขนส่งสะดวกขึ้น และยังเป็นเมืองที่อยู่แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor) เชื่อมแม่สอด จ.ตาก กับเมืองย่างกุ้ง ขณะนี้มีนักลงทุนเข้าไปมากแล้ว เช่น ปูนซีเมนต์ อาหาร
สำหรับกัมพูชา มีปัจจัยสำคัญคือ จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 คาดว่าพรรคของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะได้รับการเลือกตั้งและยังคงเป็นรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีเพราะมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย นอกจากนี้ปัจจุบันภาคตะวันออกของกัมพูชาประสบอุทกภัย ผลผลิตเกษตรเสียหายโดยเฉพาะ จ.เกาะกง ตรงข้ามกับ จ.ตราด ของไทย จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน จึงเป็นโอกาสที่ไทยสามารถขยายการค้าชายแดนไปกัมพูชา ภาคตะวันออก
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กิจกรรมสำคัญของกรมฯ เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนล่าสุด คือ จัดงานหุ้นส่วนเศรษฐกิจชายแดนไทย-เมียนมา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน -1 กรกฎาคม 2561 ที่ จ. กาญจนบุรี โดยเชิญมุขมนตรีและรัฐมนตรีแห่งภูมิภาคตะนาวศรี มาประชุมหารือ ศึกษาดูงานทุกมิติ เช่น การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และสาธารณสุข ดำเนินตามนโยบายการให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน "Stronger together" ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ปรากฏว่าในงานสามารถเจรจาจับคู่ธุรกิจ โดยเมียนมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยทันทีรวมกว่า 120 ล้านบาท และมีการทำสัญญาร่วมลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราในภาคตะนาวศรี ซึ่งล่าสุดขณะนี้ได้ต่อยอดจากงานดังกล่าว โดยบริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะเข้าไปลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าในภาคตะนาวศรีและผู้ประกอบการที่เข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา จะตั้งโรงงานเพิ่มเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellets) ส่งออกไปเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ กรมฯ ได้จัดงานมหกรรมการค้าชายแดนและมหกรรมการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT และ BIMP-EAGA ครั้งที่ 4 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2561 มีงานแสดงสินค้าจาก 5 ประเทศ รวม 230 คูหา โดยในส่วนของไทยเป็นกลุ่ม SMEs ดาวรุ่งของ 14 จังหวัดภาคใต้ให้มีโอกาสทำการค้าส่งออก และยังมีสินค้าเกษตรนวัตกรรมฯ ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้มีโอกาสหารือกับผู้แทนของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และร่วมมือทางการค้า มุ่งขยายการเชื่อมโยง 14 จังหวัดภาคใต้และชายแดนไทยกับรัฐชายแดนมาเลเซีย และต่อไปยังเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ IMT-GT และที่สำคัญคือจะขยายผลต่อเนื่องไปยังภูมิภาคอาเซียนฝั่งตะวันออก ภายใต้กรอบ BIMP-EAGA คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ที่มีประชากรกว่า 160 ล้านคน เป็นตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าฮาลาลสำคัญ
งานมหกรรมฯที่จัดครั้งนี้ผู้ประกอบการภาคใต้ของไทย สามารถจัดทำ MOU กับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวม 4 คู่สัญญา เพื่อซื้อขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวระหว่างกัน คิดเป็นมูลค่าเบื้องต้นกว่า 10 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคใต้โดยเฉพาะ SMEs บางราย ได้เจรจาจับคู่ธุรกิจขายสินค้าปลากรอบ/ปลาหยอง ในขั้นทดลองมูลค่ากว่า 3 แสนบาท และจะสั่งซื้อกันต่อ นอกจากนี้มีนักลงทุนจากฟิลิปปินส์หลายรายสนใจต้องการเข้ามาตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ได้แก่ การผลิตน้ำทุเรียนเทศ การผลิตเครื่องบรรจุภัณฑ์ การผลิต Solar Cell นับว่างานนี้ประสบผลสำคัญอย่างมากตลอดงานมียอดออเดอร์ซื้อขายรวมกว่า 175 ล้านบาท