สบน.ไม่กังวลบริหารหนี้สาธารณะในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น-ค่าเงินผันผวน เหตุปิดความเสี่ยงไว้แล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 24, 2018 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงการบริหารหนี้สาธารณะท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนว่า ไม่มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะมีสัดส่วนที่เป็นหนี้ระยะยาวถึง 90% ซึ่งในส่วนนี้ได้มีกำหนดอัตราดอกเบี้ยตายตัวไว้แล้ว ส่วนหนี้ระยะสั้นที่ใกล้จะครบกำหนดชำระเงินก็มีเพียง 10% เท่านั้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ในขณะที่การบริหารหนี้สาธารณะในภาวะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างผันผวนก็ไม่มีความน่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากได้มีการปิดความเสี่ยงไว้หมดแล้ว โดยหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลปัจจุบันมีอยู่ไม่ถึง 1% ของหนี้รัฐบาลทั้งหมดจำนวน 5.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนพ.ค.61 พบว่ารัฐบาลมีหนี้ต่างประเทศ 94,484 ล้านบาท โดยจำนวนหนี้ดังกล่าวได้มีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว 61,194 ล้านบาท และอีก 33,289 ล้านบาทยังไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยง

ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า จาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 เม.ย.61 นี้ ได้ให้คำนิยามของคำว่า "หน่วยงานรัฐ" ที่มีความกว้างขวางขึ้น ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงหน่วยงานของรัฐสภาและหน่วยงานของศาล, องค์การมหาชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมไปจนถึงกองทุนหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้มีหน่วยงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายใหม่นี้เพิ่มขึ้นเป็น 2,681 แห่ง จากเดิมที่มีเพียง 159 แห่ง

โดยในส่วนของ อปท.ทั่วประเทศนั้นจากนี้ไปหากจะมีการกู้เงินที่เป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต ก็จำเป็นต้องจัดทำแผนการกู้เงิน และบริหารหนี้ รายงานการกู้เงินและสถานะหนี้คงค้าง เพื่อให้ สบน.ได้รับทราบและจัดทำเป็นรายงานการเงินรวมของภาครัฐ ที่จากนี้ต่อไปจะมีการแยกออกเป็นรายงานการเงินรวมของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ, รายงานการเงินรวมของรัฐวิสาหกิจ และรายงานการเงินรวมของ อปท. เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 210 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ก่อนที่จะมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนต่อไป

"หน่วยงานที่เพิ่มขึ้นมา 2 พันกว่าหน่วยนี้ เป็นหน้าที่ที่ สบน.จะต้องกำกับดูแลและรายงาน เพราะได้มีการขยายคำจำกัดคำว่า "หน่วยงานภาครัฐ" เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งจะครอบคลุมหน่วยงานอิสระ และอปท. เดิมหน่วยงานเหล่านี้มีอำนาจกู้เงิน แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายนี้ แต่ในกฎหมายใหม่นี้เขียนคลุมไว้หมด ดังนั้นพวกเขาจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข และเราเองต้องขอรายงานจากเขาด้วย เช่น การกู้ที่เป็นภาระหนี้ในอนาคต ต้องชี้แจงเหตุผล ความจำเป็น ต้นทุน ประโยชน์" ผู้อำนวยการ สบน.กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัจจุบัน อปท.ทั่วประเทศมีหนี้คงค้างราว 29,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนหนี้สาธารณะโดยรวมของประเทศ แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีอำนาจในการกู้เงินได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี หาก อปท.แต่ละแห่งมีศักยภาพในการบริหารการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็จะทำให้เกิดโครงการดีๆ ที่มีประโยชน์และส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่นเองด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ