นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จังหวัดอุบลราชธานี มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 7 (PGS ระยะที่ 7) และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นวงเงินไม่เกิน 16,500 ล้านบาท (3,000 ล้านบาท+13,500 ล้านบาท) โดยขอรับเงินชดเชยจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และปีต่อๆ ไปตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี
เนื่องจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2 และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 6 (PGS ระยะที่ 6) ได้สิ้นสุดโครงการไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.61 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs
โดยโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 มีวงเงินค้ำประกัน 15,000 ล้านบาท เพิ่มจากครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 13,500 ล้านบาท กำหนดวงเงินค้ำประกันต่อราย 10,000-200,000 บาท อายุการค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันอยู่ที่ 1-2% ต่อปี ซึ่งรัฐบาลจะรับภาระแทนในปีแรก สำหรับการจ่ายเงินประกันชดเชยกรณีเป็น NPL รัฐบาลจะชดเชยในอัตรา 18% ของภาระค้ำประกัน (เงินค่าธรรมเนียมของ บสย.+เงินสมทบจากรัฐบาล) ใช้งบประมาณดำเนินการ 3,000 ล้านบาท
ส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 7 (PGS ระยะที่ 7) มีวงเงินค้ำประกัน 150,000 ล้านบาท เพิ่มจากครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 81,000 ล้านบาท กำหนดวงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท (รวมทุกสถาบันการเงิน) อายุการค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันอยู่ที่ไม่เกิน 1.75% ต่อปี สำหรับการจ่ายเงินประกันชดเชยกรณีเป็น NPL รัฐบาลจะชดเชยในอัตรา 24.25% ของภาระค้ำประกัน