นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรนอกสถานที่ จ.อุบลราชธานี เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 61/62 ด้านการตลาด โดยอนุมัติ 3 โครงการ เป็นวงเงินหมุนเวียน 35,060 ล้านบาท จ่ายขาด 62,890.48 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแรก คือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และการปรับปรุงคุณภาพข้าวแก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ซึ่งดำเนินการโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
สำหรับโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี จะเป็นการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยให้ค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวไม่น้อยกว่าตันละ 500 บาทให้แก่สมาชิกผู้ขายข้าวทุกราย นอกจากนี้จะเป็นสินเชื่อต่อตันและราคาข้าวเปลือกในการจ่ายเงินกู้ เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาสินเชื่ออยู่ที่ 11,800 บาทต่อตัน ข้าวเหนียว 10,200 บาทต่อตัน ข้าวเจ้า 7,500 บาทต่อตัน ข้าวปทุมธานี 8,900 บาทต่อตัน สำหรับโครงการนี้จะเป็นเงินหมุนเวียน 22,560 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 4,088 ล้านบาท
ส่วนการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวแก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี จะจ่ายไร่ละ 1,500 บาทตามพื้นที่ที่ปลูกข้าวจริง แต่ไม่เกินรายละ 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ก.ย.61-30 ก.ย.62 ใช้งบ 57,722 ล้านบาทเศษ (เป็นเงินจ่ายขาดทั้งหมด)
โครงการต่อมาคือ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบ้นเกษตรกร ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และธ.ก.ส. โดยจะสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบ้นเกษตรกรเพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อการแปรรูป จุดประสงค์เพื่อชะลอปริมาณข้าวเปลือกที่จะออกสู่ตลาด เป้าหมายคือรวบรวมข้าวเปลือก 2 ล้านตัน ใช้วงเงินหมุนเวียนสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 507 ล้านบาทเศษ (เงินจ่ายขาดค่าดอกเบี้ยที่รัฐจะรับภาระ 3% และสถาบ้นเกษตรกรจะรับภาระ 1%)
โครงการที่ 3 คือ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ผู้รับผิดชอบโครงการคือกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่ร่วมโครงการร้อยละ 3 เพื่อให้เก็บสต็อกไว้ 60-180 วัน เป้าหมายอยู่ที่ 5 ล้านตัน เป็นเงินจ่ายขาดทั้งสิ้น 572 ล้านบาท
"ทั้ง 3 โครงการ คือ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวจำนวน 5 ล้านตัน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว 2 ล้านตัน และสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก 2 ล้านตัน รวมแล้วจะชะลอข้าวที่ออกสู่ท้องตลาดประมาณ 9 ล้านตัน"
นายณัฐพร กล่าวว่า สำนักงบประมาณมีความเห็นเพิ่มเติมว่าในตอนแรกที่เสนอโครงการมามีการขอวงเงินชดเชยส่วนต่าง 2,698 ล้านบาทเศษในกรณีที่ต้องมีการระบายข้าว หากชาวนาไม่มาไถ่ถอนข้าวคืน แต่สำนักงบประมาณเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์และธ.ก.ส.จะต้องบริหารจัดการข้าวที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงวิธีการและขั้นตอนที่มีความโปร่งใสชัดเจน โดยนำข้าวที่ผ่านการตรวจนับปริมาณและจัดระดับคุณภาพแล้วมาระยะตามจังหวะเวลาและช่องทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ การกำหนดเกณฑ์ราคาขั้นต่ำจะต้องไม่เป็นการชี้นำตลาดรวมถึงจำกัดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการโครงการดังกล่าวอย่างรอบคอบตลอดจนมีการติดตามการดำเนินโครงการการและทบทวนให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ หากไม่ดำเนิการตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้วและมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในลำดับถัดไป
ทางด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังกำกับดูแลโครงการสินเชื่อต่างๆที่ให้เป็นเงินหมุนเวียนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเคร่งครัดและไม่ก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณเพิ่มเติมจากกรอบวงเงินที่ ครม.ได้อนุมัติให้ดำเนินการไปแล้ว รวมทั้งให้สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีติดตามและตรวจสอบการดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและหลักเกณฑ์โครงการให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและรายงานความก้าวหน้าทุกๆ 3 เดือน
หลังจากรวมราคาสินเชื่อและค่าฝากเก็บและค่าช่วยเหลือการเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว รายได้ที่เกษตรกรจะได้รับเป็นดังนี้ ข้าวหอมมะลิ 17,050 บาทต่อตัน ข้าวเหนียว 15,450 บาทต่อตัน ข้าวเจ้า 12,000 บาทต่อตัน ข้าวปทุมธานี 12,900 บาทต่อตัน