พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร) ในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวได้มีการเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และการแก้ปัญหาอุทกภัย 2.ยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร 3.การพัฒนาคุณภาพชีวิต 4.พัฒนาการท่องเที่ยว และ 5.พัฒนาด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์
โดยส่วนที่ 1 การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ปัญหาอุทกภัย ทางกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ได้ขอรับการสนับสนุน ดังนี้ 1. การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 40 โครงการ ประกอบด้วย แก้มลิง 25 โครงการ, อาคารบังคับน้ำ 8 โครงการ, ฝาย 3 โครงการ, สูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ 3 โครงกา และระบบส่ง-กระจายน้ำ 1 โครงการ 2.การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย 5 โครงการ ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ 4 โครงการ และระบบการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำ 1 โครงการ 3.ขอให้ศึกษาความเหมาะสม 5 โครงการ ได้แก่ 1)โครงการศึกษาความเหมาะสมทางผันน้ำฝั่งขวาลำน้ำมูล เพื่อบรรเทาอุทกภัย จ.อุบลราชธานี 2) โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยัง และลำน้ำชีตอนล่าง (พื้นที่ร้อยเอ็ด, ยโสธร) 3) โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและเพิ่มพื้นที่ชลประทานลาเซบาย 4) โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและเพื่อพื้นที่ชลประทานลาเซบก 5) โครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองยโสธร
ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2557-2561 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในกลุ่มจังหวัดนี้ไปแล้วเกือบ 1 หมื่นล้านบาท และตั้งงบประมาณไว้ในปี 2562 อีก 2,000 ล้านบาท โดยกลุ่มจังหวัดนี้มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 20 ล้านไร่ และมีพื้นที่การเกษตรมากถึง 13 ล้านไร่ แต่กลับพบว่ามีพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทานเพียง 1.4 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งในพื้นที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ข้าวหอมมะลิ อ้อย มันสำปะหลัง พืชผัก ผลไม้ และสมุนไพร จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวจากรัฐบาล
ส่วนที่ 2 การยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 มีพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) และเกษตรอินทรีย์ประมาณ 179,000 ไร่ ครอบคลุมเกษตรกรกว่า 5,000 ราย และมีการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ให้ได้ 1 ล้านไร่ภายในปี 2564 แต่ปัจจุบันเกษตรกรยังขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตสินค้าเกษตร ดังนั้นจึงขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อยกระดับการผลิตและการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไปสู่การเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ดังนี้
1.โครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากการเกษตรแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ Start up และ SMEs โดยสร้างโรงงานเพื่อให้บริการแปรรูปสินค้าเกษตร 3 ประเภท ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง
2. โครงการยกระดับกลุ่มจังหวัดให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ โดยขอรับการสนับสนุนการขยายตลาดสำหรับผลผลิตเกษตรอินทรีย์, ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เพื่อการส่งออก, การนำนวัตกรรมมาพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ และสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำสำหรับการรวบรวมผลผลิตทางเกษตรอินทรีย์
3. ขอให้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่ โดยประกาศให้เป็นพื้นที่ Bio Hub ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วนที่ 3 การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.2 ล้านคน และมีที่ตั้งของโรงพยาบาลศูนย์ที่ จ.อุบลราชธานี แต่ยังประสบปัญหาความแออัด ไม่สามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงขอรับการสนับสนุนดังนี้ 1) โครงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โดยจะขอใช้พื้นที่ 200 ไร่ ของมณฑลทหารบกที่ 12 เพื่อตั้งโรงพยาบาลศูนย์ย่อย คาดใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี 2) ขอรับการสนับสนุนศูนย์การแพทย์แผนไทย-พนา เป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจร บริการคลินิกแพทย์แผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ รักษา และฟื้นฟู ผลิตและจำหน่ายยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ เป็นศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพด้านการแพทย์แผนไทย ศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทย 3) ขอรับการสนับสนุนครุภัณฑ์ในการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม โดยจัดบริการห้องผ่าตัดสำหรับแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก ตา ระบบทางเดินปัสสาวะ และศัลยกรรมทั่วไป
ส่วนที่ 4 พัฒนาด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากบุคลากรด้านการท่องเที่ยวยังขาดมาตรฐานและศักยภาพที่จะพร้อมรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนขาดการประชาสัมพันธ์ว่าในแต่ละพื้นที่มีจุดขายด้านการท่องเที่ยวอย่างไร จึงได้ขอรับการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวดังนี้ จ.อุบลราชธานี พัฒนาให้เป็นศูนย์การเชื่อมโยงกับประเทศลุ่มน้ำโขง และพุทธศาสนา, จ.ศรีสะเกษ พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงกีฬา, จ.ยโสธร พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี และ จ.อำนาจเจริญ พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา
ส่วนที่ 5 พัฒนาด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ได้มีการขอรับการสนับสนุนโครงข่ายคมนาคมทางถนน ทางราง และทางอากาศที่สำคัญดังนี้ 1.การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2169 ตอนยโสธร-เลิงนกทา เพื่อเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจเชื่อมต่อกับมุกดาหาร และมีโครงข่ายเชื่อมโยงสายหลักไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 โดยขอขยายเป็น 4 ช่องจราจร 2.ปรับปรุงถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานีฝั่งตะวันออก ทางหลวงหมายเลข 231 ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ใช้ในการขนส่งสินค้าและเดินทางสู่ด่านชายแดนช่องเม็ก โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจร 3.การศึกษาออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานพัฒนามิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 6 ที่ อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ระยะทาง 1 กม. มูลค่าโครงการ 4,300 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจะได้มีการเจรจาทำข้อตกลงกับ สปป.ลาวต่อไป
สำหรับโครงข่ายคมนาคมทางราง ขอให้เร่งรัดศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ วารินชำราบ-ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในปี 2563 รวมทั้งเร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟจากสถานีวารินชำราบ-อำนาจเจริญ-เลิงนกทา เชื่อมโครงการรถไฟทางคู่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ จะมีการพัฒนาสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี โดยขยายหลุมจอดเพิ่มเป็น 10 หลุม จากปัจจุบัน 5 หลุม คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 การเพิ่มสะพานเทียบพร้อมส่วนต่อเติมเป็น 4 จุด จากปัจจุบัน 2 จุด การปรับปรุงและต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสาร ซึ่งจะรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 คน/ชม. จากปัจจุบัน 1,000 คน/ชม. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2565-2567 รวมทั้งการก่อสร้างอาคารจอดรถ 4 ชั้น