น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.61) มีการขอรับส่งเสริมการลงทุน 754 โครงการ เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 และมีมูลค่าเงินลงทุน 284,600 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2560
สำหรับมูลค่าคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งปียังเป็นไปตามเป้าหมายที่ 7.2 แสนล้านบาท โดยมั่นใจว่ามูลค่าการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะยังมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่รอการขอการส่งเสริมเข้ามาเพิ่มเติมอีก
โดยการขอรับส่งเสริมทั้งหมดเป็นโครงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 316 โครงการ คิดเป็น 46% ของจำนวนโครงการทั้งหมด มูลค่าเงินลงทุนรวม 224,150 ล้านบาท หรือคิดเป็น 82% ของมูลค่าเงินลงทุนโดยรวม
สำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีจำนวน 142 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายรายจะยื่นขอรับส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของปี 2561
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเสนอให้บีโอไอขยายสิทธิประโยชน์ที่ให้กับโครงการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ ให้ครอบคลุมการลงทุนในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างที่การพัฒนาพื้นที่อีอีซีไอยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการย้ายเข้าไปตั้งในอีอีซีไอโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินกิจการในเร็วๆ นี้ และช่วยเร่งให้เกิดการลงทุนในอีอีซีไอโดยเร็วเมื่อพัฒนาแล้วในปี 2565
ทั้งนี้ที่ประชุมได้กำหนดเงื่อนไขว่า โครงการลงทุนที่จะยื่นขอสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้จะต้องเป็นการลงทุนในกิจการเป้าหมายสำหรับอีอีซีไอ เช่น การวิจัยและพัฒนา บริการทดสอบวิทยาศาสตร์ การผลิตระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาซอฟต์แวร์มูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น และจะต้องยื่นคำขอภายในวันที่ 30 ธันวาคม2562โดยจะต้องย้ายที่ตั้งไปอยู่ในเขตอีอีซีไอ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565นอกจากนี้ ยังต้องมีการพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T) ร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด