นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงได้สั่งการให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทำงานให้หนัก โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายล่าช้า ก็ให้เร่งแก้ไขให้ได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ยังเบิกจ่ายต่ำเป้าหมาย ส่วน บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.ที่เบิกจ่ายล่าช้าในปีนี้ เชื่อว่าในปีหน้าจะมีการเบิกจ่ายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะมีการลงทุนเพิ่มใน 4 สนามบิน ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนของ บมจ.ปตท. (PTT) ขณะนี้ทะลุเป้าหมายไปเรียบร้อยแล้ว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า นายสมคิด ได้เรียกประชุมผู้บริหารรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 18 แห่งที่มีวงเงินลงทุนสูง เพื่อติดตามความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบลงทุน เนื่องจากมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสูง ซึ่งการเบิกจ่ายภาพรวมของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันที่ผ่านมา โดยรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายได้เกินเป้าหมาย ยังเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งเดิม ๆ เช่น บมจ. ปตท. (PTT), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)
ขณะเดียวกัน ยังมีรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT), บมจ. กสท. โทรคมนาคม , บมจ. ทีโอที และการยาสูบแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งนายสมคิด ได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจดังกล่าวเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายไว้มากที่สุด
รมว.คลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4.5% แต่ถ้าโตถึง 5% ถือว่าเป็นการเติบโตที่เต็มศักยภาพ
"ถ้าโตในระดับนั้นได้ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าปัจจัยเสริม ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณได้เร่งกระตุ้นให้ส่วนราชการ เดินหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณมากขึ้น เพราะการลงทุนภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ถือเป็นตัวหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหา Trade War ที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ พบว่า จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย" รมว.คลัง กล่าว
สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำมาตลอด ไม่ใช่เพียงแค่ให้เศรษฐกิจขยายตัวเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเติบโตที่มั่นคงในระยะยาวด้วย และเมื่อ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น การวางกรอบการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจกฐานรากก็จะทำได้มากขึ้น
ด้านนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กรอบการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2561 ที่ สคร. กำกับดูแลสูงถึง 4.81 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายงบลงทุนถึงเดือน มิ.ย.61 จำนวน 2.61 แสนล้านบาท
โดยการเติบโตของการลงทุนของรัฐวิสาหกิจข้างต้นเป็นผลมาจากการเร่งลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 1 และโครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
"การลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว"