ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดแนวโน้มสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ครึ่งปีหลังโต 5% จากแรงส่งของสินเชื่อธุรกิจ-สินเชื่อรายย่อย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 26, 2018 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 พบว่าภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน มิ.ย.61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.06 แสนล้านบาท เป็น 11.31 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.95% MoM สูงที่สุดในรอบครึ่งแรกปีนี้ ทำให้อัตราเพิ่มเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนไต่ระดับขึ้นเป็น 5.02%YoY และ 2.23%YTD โดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ส่วนใหญ่มาจากธนาคารขนาดใหญ่ ตามการเพิ่มของสินเชื่อภาคธุรกิจ รวมทั้งสินเชื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอียังปรับตัวลดลงในบางธนาคาร

ทั้งนี้ ภาพรวมสินเชื่อช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมากกว่าที่คาดไว้ โดยที่ส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์จากภาคการส่งออก ทำให้ความต้องการสินเชื่อในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวดี อย่างไรก็ดี ยังมีแรงกดดันต่อสินเชื่อเอสเอ็มอีบางกลุ่มโดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็กและย่อมที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทันกับภาคเศรษฐกิจอื่น สำหรับสินเชื่อรายย่อยปรับตัวดีขึ้นตามคาด จากทั้งสินเชื่อที่มีพอร์ตขนาดใหญ่อย่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกัน (บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสด)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มสินเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คงจะประคองการเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งแรก สู่เป้าหมายที่ 5.0% โดยมีสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยเป็นตัวนำ ขณะที่ธนาคารหลายแห่งโดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนใหญ่ยังคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อทั้งปีไว้เท่าเดิม ซึ่งให้ภาพที่สะท้อนความระมัดระวัง ท่ามกลางความขัดแย้งของนโยบายการค้าในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่อาจกดดันโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนของกระแสเงินทุน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจไทย

ส่วนภาพรวมเงินฝากเดือน มิ.ย.61 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 3.67 หมื่นล้านบาท หรือ 0.30% MoM เป็น 12.32 ล้านล้านบาท แต่ยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนและสิ้นปีก่อนที่ 5.78% และ 1.86% ตามลำดับ โดยการลดลงของเงินฝากในเดือนนี้กระจายไปยังทุกกลุ่มธนาคาร แต่ส่วนใหญ่เกิดในธนาคารที่ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินสูง นอกจากนี้ เงินฝากที่ลดลงในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการโยกเงินฝากออมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจและธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่ระบบธนาคารมีออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษใหม่ 9 ตัวในเดือนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของธนาคารขนาดเล็กและมีระยะเวลาฝากไม่เกิน 1 ปี เพื่อชดเชยเงินฝากประจำพิเศษที่ครบกำหนดในเดือนนี้ถึง 14 ตัว อีกทั้งเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อย 0.1% เทียบกับต้นปี

สำหรับภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารตึงตัวขึ้น ตามสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ธนาคารชะลอเงินฝากและเงินกู้ยืมลง ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากที่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ขยับขึ้นสูงสุดในรอบครึ่งแรกปีนี้เป็น 87.02% จากระดับ 85.95% ในเดือนก่อนหน้า และสอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ชะลอลงมาที่ 20.98% จากระดับ 22.30% ในเดือนก่อนหน้า

"สถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ อาจทำให้แนวโน้มการแข่งขันในเรื่องราคาเงินฝากอยู่ในกรอบจำกัด ซึ่งทำให้ผู้ออมหันมาให้ความสำคัญกับบริการและความสะดวกที่ได้รับ นั่นหมายความว่า การแข่งขันพัฒนาช่องทางบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้ผู้ออมเปิดบัญชีออนไลน์ได้ด้วยตนเอง และสามารถทำธุรกรรมที่เชื่อมโยงกับบัญชีอิเล็กทรอนิกส์นี้ได้หลากหลายประเภทขึ้น ด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำหรือได้รับการยกเว้นนั้น คงจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการออมมากขึ้นในระยะถัดไป" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ