นางพัชราภรณ์ วงษา รักษาการ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์ หรือ ทีเซล (TCELS) กล่าวว่า เวที "THAILAND LIFE SCIENCES STARTUP 2018" มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสตาร์ทอัพให้กับภาคอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยทีเซลมีความร่วมมือกับพันธมิตรภาคธุรกิจและการเงิน ในการบ่มเพาะ พัฒนาระบบ และการร่วมลงทุน เพื่อสตาร์ทอัพก้าวผ่าน Early และ Middle Stage สู่การขยายตลาด
จากความสำเร็จตลอดระยะการเริ่มโครงการแรกมาสู่ปีที่ 3 ล่าสุดทีเซลร่วมมือกับแมสชาเลนจ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสตาร์ทอัพและให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจแก่บริษัทที่มีนวัตกรรมให้สามารถก้าวสู่เวทีระดับโลก จัดโครงการ Mentor and Startup Bootcamp เพื่อสร้างเครือข่าย Mentor ด้านชีววิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมปั้นสตาร์ทอัพดาวรุ่งในการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพโดยได้เริ่มดำเนินโครงการเปิดรับสมัครช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และทำการคัดเลือกทีมสตาร์ทอัพจากทั้งหมด 42 ทีม และคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเพียง 20 ทีมเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมและพัฒนาขีดความสามารถในการทำธุรกิจ พร้อมเข้า Pitching คัดเลือกทีมที่ได้คะแนนสูงสุดจำนวน 10 ทีม เพื่อรับการสนับสนุนเงินทุนสำหรับการเริ่มต้นประกอบกิจการ ( Seed Funding ) ทีมละ 200,000 บาท และอีก 7 ทีม ที่มีคะแนนสูงสุดจะได้รับสิทธิ์การอบรมเชิงลึกเพื่อขยายตลาดไปยังต่างประเทศจากแมสชาเลนจ์
ด้านน.ส.บริททานี่ แมคโดนัล ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรต่างประเทศ แมสชาเลนจ์ กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและมีเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ดำเนินโครงการความร่วมมือการพัฒนา Mentor และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มีฐานเทคโนโลยีที่มีความพร้อมและศักยภาพสูง เพื่อเข้าสู่ธุรกิจด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว ในโครงการดังกล่าวกระบวนการสำคัญหนึ่ง คือ การเฟ้นหาทีมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทางด้านชีววิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพ การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้เข้าร่วมโครงการ และสนับสนุนทุนให้เปล่าในรูปแบบ Seed fund จึงมีความสำคัญสูงเพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์นั่นคือ สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้ และการคัดเลือกในลักษณะการประกวดจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดความตื่นตัว และสร้างการรับรู้ในวงกว้าง
"ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบ่มเพาะผู้ประกอบการ Startup มีความยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการประกวดในครั้งนี้ และขอแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะในการประกวดผ่าน Life Sciences Startup Contest 2018 ทุกทีม ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้มีการเติบโตด้วยการพัฒนานวัตกรรม พร้อมขอบคุณศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ที่เชื่อมั่นในศักยภาพและเชิญ MassChallenge เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup ที่มีฐานเทคโนโลยีที่มีความพร้อมและศักยภาพสูง เพื่อเข้าสู่ธุรกิจด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว