นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าคณะเจรจาของไทยในการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป ครั้งที่ 23 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 17-27 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า คณะเจรจาจากสมาชิกทั้ง 16 ประเทศเร่งหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปในประเด็นสำคัญตามแนวทางที่ได้รับมอบหมาย มาจากที่ประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 5 และร่วมกันจัดทำเป้าหมายสรุปผลภายในปีนี้ (a package of year-end deliverable) เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาในการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป ครั้งที่ 6 ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ณ ประเทศสิงคโปร์
สำหรับการเจรจาในรอบกรุงเทพฯ สมาชิกสามารถสรุปบทพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งมีเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งหลักการทั่วไป เช่น การตรวจสอบก่อนและหลังการนำเข้า การวินิจฉัยล่วงหน้า การนำเข้าและส่งออกสินค้าเร่งด่วน ความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร การอุทธรณ์และทบทวน รวมถึงแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความมั่นใจว่ากฎหมายและกฎระเบียบด้านศุลกากรของประเทศสมาชิกมีความชัดเจนและโปร่งใสจะทำให้มีการตรวจปล่อยสินค้าที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้นและมีขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งให้สมาชิกคำนึงถึงความปลอดภัยของกระบวนการส่งสินค้าที่มีมาตรฐานมากขึ้น อีกหนึ่งข้อบทที่สรุปร่วมกันได้ คือ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่มุ่งเน้นเฉพาะความร่วมมือด้านความโปร่งใสของกฎระเบียบและความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความช่วยเหลือทางเทคนิคในส่วนการเจรจาเรื่องกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรการสุขอนามัยพืช มีความคืบหน้ากว่าครั้งที่ผ่านมา และคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในการประชุมครั้งต่อไป
ในการประชุมรอบนี้ หัวหน้าคณะเจรจา 16 ประเทศได้จัดทำเอกสารสรุปเป้าหมายของการเจรจาสำหรับปีนี้ในแต่ละเรื่อง โดยไทยคาดหวังว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ตามเป้าหมายในปีนี้ ได้แก่ บทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กฎระเบียบทางเทคนิค มาตรการสุขอนามัยพืช การแข่งขัน การระงับข้อพิพาท กลไกการจัดตั้งสถาบัน รวมทั้งยื่นข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุนฉบับสุดท้าย นั่นหมายความว่า สมาชิกจะสามารถสรุปการเจรจาอาร์เซ็ปในทุกเรื่องได้เป็นส่วนใหญ่ในปีนี้ และจะหารือบางเรื่องที่ต้องเจรจาต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปทุกเรื่องในปี 2562 โดยคาดหวังที่จะประกาศความสำเร็จและลงนามในความตกลงได้
นายรณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประชุมรอบกรุงเทพฯ ยังมีการเปิดเวทีหารือระหว่างหัวหน้าคณะเจรจากับผู้แทนจากสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (EABC) และภาคประชาสังคม (NGOs) รวมกว่า 40 องค์กร โดยภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีที่จะสามารถนำมาซึ่งประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง และภาคประชาสังคมต้องการให้การเจรจามีความโปร่งใสและขอให้ภาครัฐรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพได้แสดงความขอบคุณสำหรับการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจามาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมทั้งขอเน้นย้ำจุดยืนของการเจรจาที่คำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศบนพื้นฐานของความเป็นธรรมและความโปร่งใส
ทั้งนี้ ไทยส่งไม้ต่อให้นิวซีแลนด์ เจ้าภาพการประชุมอาร์เซ็ป ครั้งที่ 24 ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2561 ณ เมืองโอ๊คแลนด์ คณะเจรจาของไทยจะรายงานให้ประชาชนทราบสถานการณ์การเจรจาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันผลักดันการเจรจาให้บรรลุผลสำเร็จ นำมาซึ่งประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน