นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการลดภาระหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อย ประกอบด้วย 2 โครงการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาทุกข์ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและราคาสินค้าเกษตรต่างๆ
โครงการแรก คือ การขยายเวลาชำระหนี้ให้เกษตรกรรายย่อยที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งหมดจำนวน 3.81 ล้านราย ซึ่งที่ผ่านมามาตรการพักการชำระหนี้จะให้สำหรับลูกค้าที่มีต้นหนี้เหลือต่ำกว่า 3 แสนบาท แต่ครั้งนี้จะให้แก่เกษตรกรรายย่อยทุกคน ไม่รวมเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคล ระยะเวลาโครงการเริ่ม 1 ส.ค.61 - 31 ก.ค.64 โดยที่เกษตรกรลูกค้าของธ.ก.ส. จะได้รับสิทธิในการขยายเวลาชำระต้นเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตามความสมัครใจ (แต่หากมีเงินชำระหนี้เพื่อปลดหนี้เร็วก็สามารถชำระตามกำหนดเดิมได้) ส่วนเกษตรกรรายใดที่จะเข้าโครงการนี้จะต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 1 ครั้ง หรือกรณีที่มีหนี้เงินกู้เป็นภาระหนักให้ดำเนินการตามโครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นรายๆ ไป
นอกจากนี้ เกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิต หรือสินเชื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจัดหาปัจจัยการผลิตได้ด้วย ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำลังจะออกมา เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากพืชที่ไม่ควรปลูกไปปลูกพืชที่สมควรปลูกแทน
โครงการที่ 2 คือ โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะเป็นเกษตรกรที่ได้รับสิทธิลดดอกเบี้ยเฉพาะต้นเงินกู้ที่ไม่เกิน 3 แสนบาทเท่านั้น ระยะเวลา 1 ปี เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 ส.ค.61 - 31 ก.ค.62 โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกร 2.5%ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระแทน 0.5% ต่อปี
โดยวันนี้ ครม.อนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการนี้สำหรับเดือน ส.ค.และก.ย.61 จำนวน 2,724.85 ล้านบาท มาจากงบกลางปี 61สำหรับอีก 10 เดือนที่เหลืออีก 13,580 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบประมาณปี 62 ให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
"เกษตรกรสามารถเข้าร่วมได้ทั้ง 2 โครงการแต่โครงการแรกต้องไปยื่นความจำนง เพราะอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะยืดหนี้ออกไป" นายณัฐพร ระบุ